Print

เมื่อตะวันออกพบตะวันตก

Written by admin.

pano301

นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เมื่อตะวันออกพบตะวันตก: พิพิธสมบัติพระราชา ณ วังหน้า”

            นิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เมื่อตะวันออกพบตะวันตก: พิพิธสมบัติพระราชา ณ วังหน้า” ระหว่างวันที่ 2 กรกฏาคม – 31 สิงหาคม พุทธศักราช 2557 มีความมุ่งหมายเพื่อนำเสนอพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 แห่งราชอาณาจักรสยาม ตรงกับช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับการเข้ามาของนานาชาติทางซีกโลกตะวันตก ด้วยการค้า การเผยแผ่ศาสนา และการเมือง ก่อให้เกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเป็นสยามยุคใหม่ ในสมัยต่อมา

           จุดประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการจัดนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ นอกเหนือไปจากการให้ความรู้ ความเข้าใจในพระเกียรติประวัติและพระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อคนไทยและประเทศไทยแล้ว นั่นคือ ต้องการให้ผู้เข้าชม รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคน มีส่วนร่วมในการบันทึกเรื่องราวที่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นข้อมูลในการถ่ายทอดและเผยแพร่พระเกียรติคุณให้เป็นที่แพร่หลายและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีโอกาสศึกษา เรียนรู้เรื่องราวความเป็นไปของโลกตะวันตก จนกระทั่งทรงเชี่ยวชาญ สามารถนำมาใช้และดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ อาคาร สิ่งก่อสร้าง วัตถุสิ่งของ และเอกสารต่าง ๆ ที่เนื่องด้วยพระองค์ที่ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดี           

การจัดแสดง
            ทรรศการพิเศษ เรื่อง “เมื่อตะวันออกพบตะวันตก: พิพิธสมบัติพระราชา ณ วังหน้า” จัดแสดง ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร การนำเสนอภายในนิทรรศการประกอบด้วย 3 หัวข้อ คือ 
            หัวข้อที่ 1 “พระราชา ณ วังหน้า” 
            หัวข้อที่ 2 “จิตวิญญาณ และ ปรัชญาแห่งโลกตะวันตก” 
            หัวข้อที่ 3 “เปิดสยาม สู่โลกตะวันตก”          

ดังมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

หัวข้อที่ 1 “พระราชา ณ วังหน้า”
            นำเสนอพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพะปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ดำรงพระอิสริยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระอนุชาธิราชในพระมารดาองค์เดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม สมเด็จพระเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และทรงรับราชกาลตั้งแต่นั้นมา ในรัชกาลต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณ สถาปนาให้เป็นพระมหาอุปราช ดำรงพระอิสริยยศลูกกว่าพระมหาอุปราชพระองค์ก่อน ๆ ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงสยาม หรือ The Second King of Siam ในสายตานานาประเทศ จากหลักฐานบรรดาเครื่องราชบรรณาการที่ทรงได้รับจากประมุขหรือผู้นำนานาประเทศ รวมถึงอาคารพระที่นั่งคชกรรมประเวศ พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระที่นั่งเอกอลงกฎ พลับพลาสูง พระแท่นบวรเศวตฉัตร พระที่นั่งพุดตานวังหน้า และพระแท่นออกขุนนาง เป็นต้น

หัวข้อที่ 2 “จิตวิญญาณ และ ปรัชญาแห่งโลกตะวันตก”
         เป็นการนำเสนอพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าเรียนศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงในราชสำนักตามธรรมเนียมของเจ้านายในพระราชวงศ์ ได้แก่ อักขรวิธี ภาษาไทย ภาษามคธ ศีลธรรม พระศาสนา นิติศาสตร์ พระราชประเพณี และวรรณคดี งานช่าง การใช้ศาสตราวุธ การสืบทอดพระศาสนาและขนบธรรมเนียมราชประเพณีต่าง ๆ โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระอารามหลายแห่ง รวมถึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ประดิษฐานในพระอารามเหล่านั้น ทรงมีพระราชหฤทัยรักในงานด้านภาษาและวรรณศิลป์ การสังคีตและประณีตศิลป์ พระราชวังบวรสถานมงคลที่ประทับของพระองค์ จึงเป็นเสมือนศูนย์กลางในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมหลากหลายสาขา นอกจากนี้ ทรงรับเอาแบบแผนประเพณีของจีนมาปรับใช้ในบวรราชสำนัก ทรงมีพระนามอย่างจีนว่า “เจิ้ง” แซ่ “เจิ้ง” โปรดให้สร้างราชมณเฑียรที่ประทับส่วนพระองค์เป็นแบบเก๋งจีน ทรงสะสมเครื่องกระเบื้องลายครามจีน ทรงอุปถัมภ์อุปรากรจีน สำหรับการละเล่นมหรสพฝ่ายพระราชวังหน้า สิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่เป็นจีน อาที พระแท่นบรรทมจีนประดับมุกพื้นหิน พระแท่นราชบัลลังก์จีน พระป้ายถวายชัยมงคลอักษรจีน โคมส่องนำเสด็จ เครื่องเรือนจีน และเครื่องลายครามจีน

หัวข้อที่ 3 “เปิดสยาม สู่โลกตะวันตก”
        เป็นการนำเสนอพระปรีชาสามารถและพระราชนิยมในแบบตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความอุตสาหะ และใฝ่รู้ในเรื่องของการศึกษาจนเชี่ยวชาญ สามารถนำมาใช้ คิดค้น และดัดแปลงประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง ทรงเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในสายตาของชาวตะวันตก ที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับสยามมาตั้งแต่ครั้งปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ที่ทรงควบคุมกิจการทหาร เข้าใจภาษาอังกฤษและทรงรอบรู้ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างตะวันตกเป็นอย่างดี กล่าวได้ว่า ทรงเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนช่วยให้สยามรอดพ้นจากการถูกครอบครองของชาติตะวันตก พระปรีชาสามารถที่เด่นชัดในสายตาของชาวสยาม และชาติตะวันตก คือ ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ สามารถแปลและนิพนธ์ตำราปืนใหญ่ ที่ใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน ในด้านการทหารทั้งทหารบกและทหารเรือ และการต่อเรือ ทรงเป็นผู้นำในการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ตามแบบตะวันตก เช่น โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งที่ประทับส่วนพระองค์ตามแบบตะวันตก ทรงออกแบบและใช้นามบัตรส่วนพระองค์ ทรงตั้งชื่อพระโอรสตามชื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า ยอร์ช วอชิงตัน รวมถึงทรงนิยมไว้พระมัสสุ เป็นต้น

บรรณานุกรม
           กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม. (2557). หนังสือประกอบนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “เมื่อตะวันออกพบตะวันตก: พิพิธสมบัติพระราชา ณ วังหน้า.” กรุงเทพ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).