s 07

ประวัติการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2496 เป็นต้นมา กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจ ขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานเมืองโบราณสุโขทัยโดยได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงพิจารณาเห็นว่าควรสร้างพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติขึ้นในบริเวณเมืองโบราณสุโขทัย เพื่อเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญของชาติและจัดแสดงเผยแพร่เพื่อการศึกษาต่อไป
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2503 – 2506

กรมศิลปากรจึงดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นในพื้นที่บริเวณเมืองโบราณสุโขทัยด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น สร้างขึ้นโดยใช้งบประมาณของรัฐบาลสมทบกับเงินบริจาคของประชาชน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง” ตั้งขึ้นตามพระนามของพ่อขุนรามคำแหง มหาราช วีรกษัตริย์ไทยผู้ปกครองเมืองสุโขทัยในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19
ผู้ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์คือ น.ส.จันทร์ลัดดา บุญมานพ สถาปนิกกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ซึ่งโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่จัดแสดงได้จากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองเก่าสุโขทัย เมืองโบราณใกล้เคียงและอีกส่วนหนึ่งเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่พระโบราณวัตถาจารย์ (พระราชประสิทธิคุณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานีและเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยได้อนุญาตให้เคลื่อนย้ายจากพิพิธภัณฑ์ในวัดราชธานีมาเก็บรักษาและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงโดยมีหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดี และนายทิพา สังขะวัฒนะ นายช่างศิลปโท กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ดำเนินการจัดแสดงโบราณวัตถุตามหลักวิชาการ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราช ดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2507
ต่อมาในวาระครบรอบ 700 ปี ลายสือไท เมื่อปีพุทธศักราช 2526 รัฐบาลได้ดำเนินก่อสร้าง “อาคารอนุสรณ์ลายสือไท” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระดังกล่าว จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง นิทรรศการภาพเรื่อง “สุโขไท – สุโขทัย อดีตและปัจจุบัน” ที่นำเสนอภาพรวมของเมืองสุโขทัยในด้านต่างๆทั้งการปกครอง ประเพณี วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองสุโขทัย รวมถึงการพัฒนาเมืองโบราณสุโขทัยให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ กระทั่งได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับเมืองโบราณศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร ภายในอาคารยังมีส่วนให้บริการนักท่องเที่ยว จำหน่ายบัตรค่าธรรมเนียม และหนังสือทางด้านวิชาการ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2526