pano07

พระที่นั่งศิวโมกขพิมานพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
            พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เป็นท้องพระโรงที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ เมื่อแรกสร้างวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อใช้สำหรับเสด็จออกขุนนาง และบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เดิมเป็นอาคารโถงไม่มีผนัง  สร้างด้วยเครื่องไม้  มีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน  ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3  สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพโปรดเกล้าฯ  ให้รื้อพระที่นั่งองค์เดิมแล้วสร้างใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่กว่าเดิม ส่วนหลังคา ยังเป็นเครื่องไม้เลียนแบบมาจากพระที่นั่งองค์เดิม คือมีลักษณะลาดต่ำและมีพาไลรอบเพื่อป้องกันแดดและฝน เนื่องจาก เป็นอาคารโถง

            สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2430 พระที่นั่งองค์นี้ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑสถาน เรียกว่า “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” หรือ “Royal Museum” ครั้งนั้นจึงได้มีการดัดแปลงทำผนังอาคารและเพิ่มเติมมุขลดด้านหน้า  จากนั้นในสมัยราชกาลที่ 7  ได้ใช้เป็นหอพระสมุดวชิรญาณที่เก็บรวบรวมเอกสารโบราณ และศิลาจารึก  มีการต่อเติมหลังคามุข ให้เป็นทรงสอบสูง อย่างในปัจจุบัน  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2510  พระที่นั่งศิวโมกขพิมานได้ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการก่อนประวัติศาสตร์  และที่ทำการกองโบราณคดี กรมศิลปากร และในปี พ.ศ. 2525 ได้เปลี่ยนเป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย จนถึง พ.ศ. 2558 ได้ปรับปรุงเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         สมัยรัชกาลที่ 1 พระที่นั่งศิวโมกขพิมานใช้เป็นพระที่นั่งท้องพระโรง คือ ใช้เป็นที่ตั้งพระที่นั่งบวรเศวตฉัตรสำหรับ สมเด็จพระมหาอุปราชประทับออกขุนนาง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ อาทิ เทศน์มหาชาติ จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระที่นั่งทรงธรรม”

           ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา พระที่นั่งศิวโมกขพิมานเป็นแต่ที่ทำการพระราชพิธีพิเศษต่างๆ ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน หรือเรียกได้ว่าสร้างขึ้นใหม่  เนื่องจากทรงให้รื้อพระที่นั่งหลังเดิมออก  และขยายขนาดสร้างใหม่  เป็นเครื่องก่ออิฐถือปูน  ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นแบบอย่างฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ 3       

           ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4​ ปรากฏหลักฐานเอกสารว่าด้วย “ลักษณะการพระราชพิธีฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล” ระบุว่า สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ใช้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในการบำเพ็ญพระราชกุศลหลายประการ เช่น นักขัตฤกษ์สงกรานต์ ในวันเถลิงศกใช้เป็นที่พระสงฆ์ฉันและสดัปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายพระราชกุศลแก่พระบวรราชวงศ์ การพระราชพิธีวิสาขบูชา ใช้เป็นที่พระสงฆ์สวดมนต์ สดัปกรณ์พระบรมอัฐิและรับถวายสลากภัตร การบวชนาคหลวงเดือน 8 ใช้เป็นที่ทำขวัญนาค และเป็นสถานที่พระสงฆ์สวดมนต์ในการพระราชพิธีสารท เป็นต้น นับตั้งแต่พุทธศักราช 2400​  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญพระเสริมลงมาจากเมืองหนองคาย ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ก็มีการพระราชกุศลเนื่องด้วยพระเสริมเพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น  ในการพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา        

           พุทธศักราช 2428 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคต พระที่นั่งศิวโมกขพิมานเป็นที่ว่างมาจนจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพุทธศักราช 2430 เรียกในครั้งนั้นว่า “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” หรือ “ROYAL MUSEUM” จึงได้ดัดแปลงทำฝาพระที่นั่งและเพิ่มเติมมุขลดด้านหน้าขึ้นในครั้งนั้น

          สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานทั้งหมดในวังหน้า ตั้งขึ้นเป็นหอพระสมุดวชิรญานและพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงพระราชทานพระที่นั่งศิวโมกขพิมานเป็นหอพระสมุดฯ ที่เก็บรวบรวมหนังสือ เอกสารประเภทตัวเขียนและตัวจาร อาทิ ใบลาน สมุดข่อย และศิลาจารึก และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาในพุทธศักราช 2469

          ต่อมาพุทธศักราช 2510 ได้ปรับปรุงเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการก่อนประวัติศาสตร์ จนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2525 จึงได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประวัติศาสตร์ชาตืไทย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พุทธศักราช 2525 ได้ปรับปรุงห้องจัดแสดงเป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมีการดัดแปลงรูปแบบภายในอาคารเป็นห้องจัดแสดงสมัยใหม่ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์สมัยต่างๆ ของประเทศไทย เช่น สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ มีการใช้สื่อจัดแสดงหลายประเภท เช่น หุ่นจำลอง และสื่อมัลติมีเดียเข้ามาประกอบในการจัดแสดงนิทรรศการ

          พุทธศักราช 2558  กรมศิลปากรได้ทำการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน  อีกครั้งโดยยกเลิกห้องจัดแสดงต่างๆ ภายในอาคารที่จัดแสดงขึ้นภายหลัง  และปรับปรุงรูปแบบของอาคารให้กลับคือสู่สถาปัตยกรรมดั้งเดิม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความงามของพระที่นั่งหลังนี้ และนำเอาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมทุกสมัยที่พบในประเทศไทยมาจัดแสดง โดยเรียงลำดับเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ และอารยธรรมอันรุ่งเรืองของประเทศ ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยมีแนวคิดในการจัดแสดงที่มุ่งเน้นถึงความงามของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้ความสำคัญกับการออกแบบตู้จัดแสดง แท่น ฐาน และการจัดวางโบราณวัตถุ โดยเฉพาะการจัดแสง ที่ถูกออกแบบเพื่อการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ การปรับปรุงนิทรรศการภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานในปัจจุบัน      มีวัตถุประสงค์เพื่อการคืนความงามให้กับสถาปัตยกรรมไทยโบราณ และส่งเสริมคุณค่าของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมที่นำมาจัดแสดง โดยเฉพาะบอกเล่าถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย