ประวัติความเป็นมา

TH 04

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโบสถ์ (พระอารามหลวง) ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เริ่มจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดมาตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2481 โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ พระเทพสุทธิโมลี (ผึ่ง โรจโน) ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี - อุทัยธานี (ฝ่ายธรรมยุต) ซึ่งท่านได้รวบรวมศิลปวัตถุโบราณวัตถุจากการบริจาคของประชาชน นำมาจัดแสดงเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยใช้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดโบสถ์" ต่อมามีโบราณวัตถุจำนวนมากและได้จัดถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงได้ส่งมอบให้แก่กรมศิลปากรรับผิดชอบและขออนุมัติเปลี่ยนชื่อเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี"

พระเทพสุทธิโมลี

เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์ ก่อตั้ง โดยอดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ พระเทพสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี – อุทัยธานี ฝ่ายธรรมยุตในขณะที่เป็นพระครูวิสุทธิธรรม ได้รวบรวมจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่า ตั้งแต่พุทธศักราช 2483 โดยดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการ มีอดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์เป็นประธานบริหารงาน

นางเพิ่ม

ในพุทธศักราช 2496 ได้รับการจัดตั้งเป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำอำเภออินทร์บุรี ต่อมาในพุทธศักราช 2504 คณะกรรมการพิพิธภัณฑสถานพิจารณาเห็นว่าอาคารไม้หลังเก่าไม่เพียงพอสำหรับจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุที่มีจำนวนมากขึ้น จึงได้รับบริจาคเงินก่อสร้างอาคารหลังใหม่จาก นางเพิ่ม ดุริยางกูร และตั้งชื่ออาคารว่า ตึกเพิ่ม ดุริยางกูร และปรับปรุงศาลาการเปรียญของวัดหลังเดิมคือ ศาลาศักดิ์บุรินทร์ เป็นอาคารจัดแสดง อีกหลังหนึ่ง

แต่งตั้งพระสังฆราช

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2514 อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระราชเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ได้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนกรมศิลปากรในการดำเนินงานปรับปรุงการจัดแสดงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และต่อมาในปี พุทธศักราช 2516 สาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี


ประวัติเมืองอินทร์บุรี

อินทร์บุรี เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสิงห์บุรี จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเคยมีชุมชนโบราณอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 16) โดยมีการพบโบราณวัตถุหลายชนิดที่แหล่งโบราณคดี บ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี
ในสมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ตั้งเมืองสิงห์บุรีเป็นเมืองลูกหลวง เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรีเป็นเมืองหลานหลวง และเมืองทั้งสามยังเป็นหัวเมืองชั้นในและหัวเมืองหน้าด่านรายทาง ทางด้านทิศเหนือโดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านหลัก แสดงให้เห็นว่าเมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี เป็นเมืองมาก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าเมืองทั้งสามได้สร้างขึ้นในสมัยใด
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ กำหนดให้หัวเมืองที่อยู่ใกล้วงราชธานี หรือหัวเมืองชั้นในเป็นเมืองจัตวา หัวเมืองที่อยู่นอกเขตวงราชธานีออกไปกำหนดฐานะเป็นหัวเมืองเอก โท ตรี โดยลำดับตามขนาดและความสำคัญของเมือง เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี และเมืองสิงห์บุรี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวเมืองชั้นในจึงเปลี่ยนเป็นเมืองจัตวา
สมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการปกครองหลายครั้ง และในพุทธศักราช 2438 รัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี รวมเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) ต่อมาในปีพุทธศักราช 2439 ได้ลดฐานะเมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี ลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองสิงห์บุรี