นิทรรศการ

event00

การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจึงแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ  ดังนี้
event02
อาคารนิทรรศการ 1

     จัดแสดงเรื่องราวของเมืองกำแพงเพชรตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ โดยแบ่งยุคสมัยเป็นสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี และสมัยสุโขทัย
     กำแพงเพชรมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์แพร่กระจายในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอโกสัมพีนคร เป็นต้นโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ดังกล่าวนี้สามารถเปรียบเทียบลักษณะได้กับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าแหล่งโบราณคดีเขาสามเหลี่ยม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี แหล่งโบราณคดีหนองโน 
อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ฯลฯ ซึ่งกำหนดอายุราว 6,000 - 1,500 ปีมาแล้ว
     หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในกำแพงเพชร ทำให้สามารถสันนิษฐานถึงสภาพการดำรงชีพของผู้คนในอดีตได้ว่า กลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มีการดำรงชีพโดยอาศัยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และมีพัฒนาการมาโดยลำดับจากการเก็บของป่า
ล่าสัตว์ มีการทำเครื่องมือหินกะเทาะ ภาชนะดินเผาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สู่การเป็นชุมชนที่เริ่มตั้งถิ่นฐาน สร้างสรรค์
ประดิษฐกรรมเพื่อการดำรงชีวิต อาทิ การทำเครื่องมือหินที่มีการตกแต่งคมด้วยการขัดฝนผิวเพื่อการใช้งาน การทำภาชนะดินเผา การรู้จักนำเส้นใยธรรมชาติมาผลิตเป็นสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม การหล่อโลหะประเภทสำริด และเหล็ก ฯลฯ รวมทั้งมีการแลกรับวัฒนธรรมกับชุมชนใกล้เคียง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นชุมชนเมืองในสมัยประวัติศาสตร์
     จังหวัดกำแพงเพชรมีแหล่งโบราณคดีซึ่งปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการกลุ่มชนและพัฒนาการทางวัฒนธรรมนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 6,000 - 1,500 ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีเหล่านี้ ได้แก่
          - แหล่งโบราณคดีเขากะล่อน บ้านหาดชะอม ตำบลพุทราอำเภอขาณุวรลักษบุรี แหล่งโบราณคดีแห่งนี้พบเมื่อ พ.ศ.2535 หลักฐานทางโบราณคดีในแหล่ง อาทิ ขวานหินขัด หินลับ ภาชนะดินเผา ลูกปัดหิน กำไลหิน ลูกกลิ้งดินเผา
ลูกกระสุนดินเผา เป็นต้น กำหนดอายุราว 6,000 - 2,000 ปีมาแล้ว          
          - แหล่งโบราณคดีมอเสือตบ บ้านคลองเมือง ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร แหล่งโบราณคดีมอเสือตบเป็นแหล่งโบราณคดียุคโลหะ อายุประมาณ 6,000 - 1,500 ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี อาทิ เครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา ผนังเตาถลุงโลหะ เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ฯลฯ
          - แหล่งโบราณคดีบ้านโค้งวิไล อำเภอคลองขลุง แหล่งโบราณคดีบ้านโค้งวิไลเป็นแหล่งโบราณคดียุคโลหะ
อายุประมาณ 2,000 - 1,500 ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผา แวดินเผา เครื่องมือเหล็ก เป็นต้น
          - แหล่งโบราณคดีถ้ำเขียว อำเภอเมือง แหล่งโบราณคดีถ้ำเขียว เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
อายุราว 4,000 - 2,500 ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีในแหล่ง อาทิ ขวานหินขัด ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้วเป็นต้น      
          - แหล่งโบราณคดีบ้านคลองลาน อำเภอคลองลาน แหล่งโบราณคดีถ้ำเขียว เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 4,000 - 2,500 ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผา แวดินเผา ฯลฯ
          - แหล่งโบราณคดีบ้านคอปล้อง และบ้านชายเคือง ตำบลระหาน อำเภอบึงสามัคคี แหล่งโบราณคดีดังกล่าวพบเมื่อประมาณ พ.ศ.2546 จากลักษณะหลักฐานทางโบราณคดีที่พบเช่น หินดุ แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน เครื่องมือสำริด เครื่องมือเหล็ก ฯลฯ กำหนดอายุราว 4,000 - 1,500 ปีมาแล้ว
          - แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง เป็นแหล่งโบราณคดีในยุคโลหะ อายุประมาณ
2,000 - 1,500 ปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี อาทิ ลูกปัดหินคาร์เนเลียน ลูกปัดหินโมรา เป็นต้น

วัฒนธรรมทวารวดี
     ทวารวดี เป็นชื่อเรียกดินแดนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ระหว่างศรีเกษตร (ในประเทศเมียนมาร์ปัจจุบัน) และเจิ้นลา (เจนละ) (ในประเทศกัมพูชา ปัจจุบัน) เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 16 โดยปรากฏครั้งแรกในงานเขียนของนักวิชาการ คือ แซมมวล บีล เมื่อ พ.ศ.2427 นอกจากนี้ยังปรากฏในบันทึกการเดินทางของพระภิกษุจีนชื่อ เหี้ยนจัง ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ถัง ทวารวดีเป็นชื่อที่ตรงกับจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตบนเหรียญเงินที่พบจากเมืองโบราณในจังหวัดนครปฐม เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมืองจังหวัดสิงห์บุรี ฯลฯ กำหนดอายุราว
พุทธศตวรรษที่ 12 - 16 (ผาสุข อินทราวุธ 2542)
     โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบในวัฒนธรรมทวารวดี อาทิ สถาปัตยกรรมศาสนสถาน สร้างด้วยอิฐ และศิลาแลง พระพุทธรูป พระพิมพ์ เสมาหิน สถูปจำลอง ธรรมจักร ลูกปัดทำจากแก้ว หิน ทองคำ ฯลฯ ทำให้สันนิษฐานได้ถึงสภาพสังคมในวัฒนธรรมดังกล่าวว่าพัฒนามาจากสภาพชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ผสมผสานกับวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย จีน โรมัน ฯลฯ ผ่านการติดต่อค้าขายทำให้ชุมชนเกิดการขยายตัวจากสังคมหมู่บ้านเป็นสังคมเมือง โดยมีรากฐานทางเศรษฐกิจจากการเกษตรกรรม การค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรในท้องถิ่นกับชุมชนใกล้เคียงและชุมชนโพ้นทะเล นับถือ
พุทธศาสนาควบคู่กับศาสนาฮินดูจากภายนอกและวัฒนธรรมทวารวดี (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2550; ผาสุข อินทราวุธ 2542)
     แหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมทวารวดีมีลักษณะการก่อสร้างเป็นแหล่งชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ซึ่งเกิดจากการปรับพื้นที่ตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้ลักษณะของสิ่งก่อสร้างคูน้ำคันดินคันดินมีรูปทรงไม่เป็นไปตามแบบเรขาคณิตในประเทศไทยปรากฏหลักฐานแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมทวารวดีกระจายอยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆอาทิเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง ตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง - ท่าจีน ลุ่มน้ำลพบุรี - ป่าสัก ภาคตะวันออกบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ เป็นต้น

วัฒนธรรมลพบุรี
     ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 อันเป็นระยะเวลาที่วัฒนธรรมทวารวดีปรากฏในพื้นที่ส่วนต่างๆของประเทศไทยนั้น วัฒนธรรมเขมรโบราณที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนครในกัมพูชาได้แพร่กระจายเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และทวีความสำคัญจนกลายเป็นวัฒนธรรมหลักในพื้นที่บางส่วนของภาคกลาง เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ฯลฯ  ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับแต่พุทธศตวรรษที่ 16 - 18 อย่างไรก็ตาม รูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรโบราณที่พบในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น นักวิชาการพบว่ามีการผสมผสานความเป็นพื้นถิ่นของช่างในรูปแบบศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นซึ่งต่างจากศิลปะเขมรโบราณในกัมพูชา ดังนั้นจึงกำหนดชื่อเรียกวัฒนธรรมอันเป็นที่มาของแบบอย่างศิลปกรรมนี้ว่า วัฒนธรรมลพบุรี หรือ วัฒนธรรมเขมรโบราณในประเทศไทย ลักษณะเด่นของชุมชนในวัฒนธรรมลพบุรี คือ การสร้างเมืองรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบคูน้ำคันดิน และการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค บริเวณกลางเมืองนิยมสร้าง ศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรม สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมหายาน ก่อสร้างด้วยหินทราย ศิลาแลง อิฐ ซึ่งมีแบบแผนการก่อสร้างถือความสำคัญของแกนสมมาตรเป็นหลัก โดยมีองค์ประกอบร่วมทางสถาปัตยกรรม เช่น บาราย (สระน้ำ) คูน้ำคันดินกำหนดเขตรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปเกือกม้า ฯลฯ ร่องรอยสถาปัตยกรรมวัฒนธรรมลพบุรีเก่าสุดที่พบในประเทศไทยมีอายุย้อนหลังราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 เป็นส่วนประกอบของกรอบประตูที่เรียกว่า ทับหลัง จากปราสาทเขาน้อยสีชมพู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว หลังจากนั้นจึงพบโบราณสถานที่มีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมเขมรโบราณแบบพะโค (ราว พ.ศ.1420 - 1440) แบบเกาะแกร์ (ราว พ.ศ.1465 - 1490) แบบแปรรูป (ราว พ.ศ.1490 - 1510) ในบริเวณภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โบราณสถานในวัฒนธรรมลพบุรีที่สำคัญและพบมากในประเทศไทย  ได้แก่ โบราณสถานแบบบาปวน (ราว พ.ศ.1560 - 1630) แบบนครวัด (ราว พ.ศ.1650 - 1720) และแบบบายน (ราว พ.ศ.1720 - 1780)

วัฒนธรรมสุโขทัย
     ในช่วงสมัยสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 20 พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิงในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ได้ปรากฏร่องรอยเมืองโบราณที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ เมืองไตรตรึงษ์ เมืองคณฑี เมืองเทพนคร เมืองนครชุม และเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงศูนย์กลางการปกครองช่วงสมัยสุโขทัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่างนี้ เมืองนครชุมที่ตั้งอยู่ริมคลองสวนหมากทางฝั่งตะวันตกน่าจะเกิดขึ้นก่อนเมืองกำแพงเพชร ดังปรากฏข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ที่กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่กลางเมืองนครชุม ซึ่งเป็นช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 ลิไท แห่งกรุงสุโขทัย เมื่อประมาณพุทธศักราช 1900 ต่อมาจึงย้ายศูนย์กลางการเมืองการปกครอง ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาและศิลปกรรมไปยังฝั่งตรงข้ามคือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง อันเป็นที่ตั้งของเมืองกำแพงเพชรหรือเมืองชากังราว

event03
อาคารนิทรรศการ 2

           จัดแสดงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์โดยต่อเนื่องมาจากอาคารนิทรรศการ 1 แบ่งเป็นสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์

อยุธยา
            กำแพงเพชรดำรงสถานะความเป็นเมืองสำคัญของรัฐสุโขทัย ต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ.1952 ในรัชสมัยสมเด็จพระนคริน
ทราธิราช (พ.ศ.1952 - 1967) ปกครองรัฐอยุธยา พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจเข้าครอบครองรัฐสุโขทัย ส่งผลให้กำแพงเพชรตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอยุธยา โดยมีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการต้านทานกองทัพพม่ามิให้รุกคืบลงมายังกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งยังคงเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางบกและทางน้ำบริเวณลำน้ำปิง นอกจากนี้ ตำนาน
พระพุทธสิหิงค์และตำนานรัตนพิมพวงศ์ ยังกล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เป็นการชั่วคราว ณ เมืองกำแพงเพชร อันแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองนี้ในสมัยอยุธยา

กำแพงเพชรเมืองแห่งลุ่มน้ำปิงฝั่งตะวันออก
              เมืองโบราณริมฝั่งแม่น้ำปิงที่ยังคงความสำคัญสืบเนื่องมาแต่สมัยสุโขทัย ได้แก่ เมืองนครชุม ทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิง เมืองกำแพงเพชร บนฝั่งตะวันออก ซึ่งในสมัยอยุธยา ความสำคัญของเมืองบนฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิงได้ย้ายมาสู่ฝั่งตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของเมืองกำแพงเพชร ด้วยความสำคัญในการเป็นเมืองยุทธศาสตร์หน้าด่านในการต้านทานกองทัพพม่า เมืองกำแพงเพชรจึงมีสิ่งก่อสร้างเพื่อการป้องกันภัยสงคราม อาทิ การขุดคูน้ำล้อมรอบเมือง การสร้างกำแพง เชิงเทิน ป้อม ฯลฯ ด้วยศิลาแลงที่มีความมั่นคงแข็งแรง ภายในเมืองเป็นที่ตั้งของพุทธสถานต่างๆ และบ้านเรือนของผู้ปกครองเมืองบริเวณนอกเมืองทางด้านเหนือเป็นพื้นที่ป่า เรียกว่า เขตอรัญญิก มีพุทธสถานขนาดใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่เช่นกัน พุทธสถานเหล่านี้มีลักษณะศิลปกรรมที่ปรากฏเป็นการรับรูปแบบศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนา และศิลปะอยุธยา

เมืองยุทธศาสตร์ป้องกันศึกพม่า
              จากหลักฐานศิลาจารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุ ฯลฯ ระบุถึงสถานะของกำแพงเพชรว่า เคยเป็นเมืองพระยามหานคร
(หัวเมืองชั้นนอกซึ่งพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ปกครอง) เมืองลูกหลวง
(เมืองเอกที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสปกครอง) และหัวเมืองชั้นโท ทำหน้าที่เมืองหน้าด่านของรัฐอยุธยา เพื่อต้านทานกองทัพข้าศึกจากรัฐล้านนาและพม่า อย่างไรก็ตาม อำนาจของรัฐอยุธยาเหนือกำแพงเพชรยังเป็นลักษณะที่ไม่ถาวร ดังนั้นจึงมีบางช่วงที่เมืองกำแพงเพชรเป็นอิสระจากรัฐอยุธยา
              พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต กล่าวถึง เหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(พ.ศ. 1991 - 2031) ว่า โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมสร้างกำแพงเมืองกำแพงเพชรขึ้นใหม่อย่างมั่นคงแข็งแรงและทันสมัย
ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อปืนใหญ่จากฮอลันดาเพื่อนำมาตั้งประจำการบนกำแพงเมือง
              นอกจากนี้กำแพงเพชรยังเป็นเมืองสะสมเสบียงอาหารสำหรับการสงครามทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายไทย ปรากฏชื่อ นาพม่า
นามอญ ในบริเวณที่ลุ่มด้านตะวันออกนอกกำแพงเมือง ทั้งยังปรากฏหลักฐานว่า ในการสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า กองทัพจากกรุงศรีอยุธยาได้โจมตีและทำลายเมืองกำแพงเพชร เพื่อป้องกันกองทัพพม่าใช้เมืองแห่งนี้เป็นแหล่งฐานกำลังระดมเสบียงใช้ในการสงครามต่อไป

ชุมทางการค้าแห่งลุ่มน้ำปิง
               ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมของเมืองกำแพงเพชรที่อยู่ริมแม่น้ำปิงทำให้เป็นศูนย์กลางการค้าทางบกและทางน้ำ และยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมการลำเลียงสินค้าจากด้านตะวันออกไปยังอ่าวเมาะตะมะในพม่าที่อยู่ทางตะวันตก ด้วยความสำคัญของกำแพงเพชรในทางเศรษฐกิจดังกล่าว ชนชั้นปกครองซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการก่อตั้งราชวงศ์สุพรรณภูมิในสมัยอยุธยาได้ตระหนักถึงความสำคัญนี้ จึงสถาปนาศูนย์อำนาจที่เมืองกำแพงเพชร นับแต่ก่อนที่จะก่อตั้งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา (ระหว่าง พ.ศ.1991 - 2231)การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองศูนย์อำนาจของกลุ่มราชวงศ์สุพรรณภูมิมีส่วนสำคัญในการควบคุมการลำเลียงสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะของป่าที่ส่งต่อไปยังเมืองท่า ในภาคกลางส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัฐสุโขทัยที่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐอยุธยาและเมืองบริวาร เช่น สุพรรณบุรี ชัยนาท ฯลฯ ซึ่งผูกขาดเศรษฐกิจการค้ากับดินแดนโพ้นทะเล ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยอยุธยา การค้าของป่าเป็นสินค้าสร้างรายได้อย่างสูง โดยชาวฮอลันดาเป็นชาติเดียวที่ได้สิทธิ์ในการค้าหนังกวาง และรายได้จากการค้าดังกล่าวรัฐอยุธยาได้ใช้ซื้อปืนใหญ่ เพื่อสร้างแสนยานุภาพทางการรบ
แหล่งศิลาแลงใหญ่
             ศิลาแลงเป็นดินที่มีส่วนผสมของไอรอนออกไซด์ อะลูมิเนียมออกไซด์ และซิลิคอนออกไซด์ มีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้ม ขณะอยู่ใต้ผิวดินจะชื้น อ่อนนุ่ม มีรูพรุน เมื่อขุดเปิดหน้าดินสามารถตัดเซาะเป็นแผ่นหรือแท่งสี่เหลี่ยมได้ แต่เมื่อศิลาแลงแห้งสนิท เนื้อจะแกร่งคล้ายหิน ศิลาแลงยังเป็นวัสดุก่อสร้างหลักของโบราณสถานหลายแห่งในกำแพงเพชร ด้วยความสามารถอันเป็นเอกของช่างฝีมือครั้งอดีต ในการนำศิลาแลงขนาดใหญ่มาก่อสร้างอาคารพุทธสถานหลายแห่ง อาทิ เสาวิหารวัดพระนอนจำนวนหลายสิบต้นที่สร้างจากศิลาแลงท่อนเดียว วัดช้างรอบที่มีศิลาแลงเป็นโครงสร้างตั้งแต่ส่วนฐาน และประติมากรรมช้างตกแต่งลายปูนปั้น ฯลฯ นอกจากนี้ ทางเหนือนอกเมืองกำแพงเพชร (เขตอรัญญิก) บริเวณหน้าวัดพระนอน และวัดช้างรอบ
ยังพบบ่อศิลาแลงที่มีร่องรอยการขุดตัดเพื่อนำศิลาแลงไปใช้งาน สันนิษฐานว่าศิลาแลงจากบ่อเหล่านี้มีการตัดไปเพื่อใช้ในการสร้างศาสนสถานนับแต่สมัยสุโขทัยต่อเนื่องถึงสมัยอยุธยา

ธนบุรี - รัตนโกสินทร์
            ภายหลังการล่มสลายของรัฐอยุธยา ล่วงเข้าสู่สมัยธนบุรี เมืองกำแพงเพชรมีสถานะเป็นเมืองพระยามหานคร และหัวเมืองชั้นโท ทั้งยังเป็นพื้นที่การสงครามระหว่างไทยและพม่าหลายครั้ง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์เมืองกำแพงเพชรซึ่งได้รับความเสียหายจากการเป็นพื้นที่การสงครามระหว่างไทยและพม่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสภาพเป็นเมืองร้าง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูเมืองคืนสู่สภาพปกติ เมืองกำแพงเพชรในสมัยรัตนโกสินทร์ มีชื่อเสียงในการเป็นเมืองส่งส่วยน้ำตาล ของป่า ไม้สัก น้ำมันยาง ฯลฯ เป็นที่รู้จักในหมู่พ่อค้าชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นเมืองแห่งการทำอุตสาหกรรมป่าไม้บนเส้นทางการขนส่งไม้สักทางลำน้ำปิงจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลาง

ยุทธภูมิการรบและแหล่งเสบียงกองทัพในสมัยธนบุรี
       ในช่วงระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ.2310 - 2325) แห่งรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นช่วงเวลาของการสร้างความมั่นคง และเอกภาพให้เกิดในรัฐ ไทยและพม่ายังคงมีสงครามต่อเนื่อง กำแพงเพชรเป็นเมืองยุทธศาสตร์การสงครามต้านทานทัพจากพม่า และทำหน้าที่เป็นแหล่งเสบียงอาหาร อันเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญเมืองหนึ่งใน พ.ศ.2313 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาสุรบดินทร์เป็นพระยากำแพงเพชรปกครองเมืองกำแพงเพชร และทำหน้าที่
หัวเมืองป้องกันการรุกรานของกองทัพพม่าที่ยกเข้ามา ใน พ.ศ.2318 และ พ.ศ.2319 ซึ่งการสงครามดังกล่าวกองทัพไทยสามารถขับไล่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ด้วยการที่กำแพงเพชรเป็นพื้นที่สงครามหลายครั้ง ส่งผลให้ได้รับความเสียหายจากสงครามอย่างต่อเนื่อง นับแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยธนบุรี ทำให้เมืองอยู่ในสภาพร้างนับแต่นั้น

กำแพงเพชรในสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325 - 2475)
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ.2325 - 2352) โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูสภาพเมืองกำแพงเพชรที่ทิ้งร้างไปด้วยเหตุความเสียหายจากสงคราม พระราชทานพระแสงฝักทองคำแก่เจ้าเมืองกำแพงเพชร (ปัจจุบัน คือ พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร) ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้เชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนจากปัตตานีมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะแขกท้ายเมืองกำแพงเพชรทำให้กำแพงเพชรคืนสภาพเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยดังเดิม
            ในสมัยรัตนโกสินทร์ กำแพงเพชรเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยนาข้าว อ้อยเพื่อการทำน้ำตาล รวมทั้งทรัพยากรป่าไม้สัก แหล่งป่าไม้สักในภาคเหนือตอนล่างที่สำคัญ ได้แก่ พิษณุโลก สวรรคโลก กำแพงเพชร โดยพ่อค้าไม้มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ ลาว จีน เงี้ยว ตองซู อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ รับซื้อไม้และล่องซุงลงมาตามลำน้ำปิงสู่ปากน้ำโพ เมืองนครสวรรค์ และล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อการแปรรูปซุงนั้นเป็นไม้ใช้งาน หรือส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำมันยาง ไต้จุดให้แสงสว่าง ขี้ผึ้ง กระวาน ฯลฯ
            ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ.2440 ด้วยการส่งข้าหลวงเทศาภิบาลจากส่วนกลางไปทำหน้าที่จัดระเบียบการปกครอง การศาล การจัดเก็บภาษีอากร ฯลฯ กำแพงเพชรจึงมีฐานะเป็นเมืองหนึ่งในปกครองของมณฑลนครสวรรค์ กระทั่งใน พ.ศ.2476 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงปรับเปลี่ยนสถานะเป็นจังหวัดกำแพงเพชรสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เมืองแหล่งทรัพยากรของป่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    กำแพงเพชรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการค้าไม้สัก ขี้ผึ้ง กระวาน น้ำมันยาง ฯลฯ และแหล่งเพาะปลูกข้าว อ้อย เพื่อการทำน้ำตาล อันเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออก ที่มีผลจากการทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2398)
    ในช่วงรัชสมัยดังกล่าว เมืองกำแพงเพชรจึงเป็นพื้นที่ซึ่งพ่อค้าต่างชาติเดินทางไปมาเพื่อทำการค้า พ่อค้าไม้สักชาวกะเหรี่ยงที่มีชื่อเสียง คือ พระยาตะก่า เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุนครชุม พุทธสถานสำคัญคู่เมืองกำแพงเพชรสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ในการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จโดยพะโป้ น้องชายพระยาตะก่า ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวกะเหรี่ยงที่รู้จักดีในหมู่พ่อค้าและประชาชน ทำให้พระบรมธาตุนครชุมดำรงความเป็นพุทธสถานศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวกำแพงเพชรสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

การเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร
     กระแสการรับวัฒนธรรมตะวันตกที่มีผลต่อแนวคิดในทางการเมืองการปกครอง และแนวคิดเกี่ยวกับรัฐประชาชาติ การกำหนดขอบเขตอธิปไตยของประเทศที่มีผลต่อการปกครอง ส่งผลต่อพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์ ด้วยทรงตระหนักว่า ในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของสยามเป็นที่อยู่ของคนต่างเชื้อสายกัน การสร้างความเป็นเอกภาพของชาติด้วยการให้การศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ทัดเทียมกันในแต่ละภูมิภาคจึงเป็นสิ่งจำเป็น กำแพงเพชรเป็นเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญนับแต่อดีต ในฐานะประตูสู่พื้นที่ของหัวเมืองเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา ฯลฯ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนเชื้อสายไทยวนลื้อ ลัวะ ไทยใหญ่ ฯลฯ การเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ 18 - 27 สิงหาคม พ.ศ.2449 เพื่อทรงรับทราบถึงความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ทอดพระเนตรโบราณสถานในเมืองนครชุมและเมืองกำแพงเพชร นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมือง ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงฝักทองคำซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานแก่เจ้าเมืองกำแพงเพชรซึ่งเป็นต้นตระกูล แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2449 และทรงรับไว้ จากนั้นจึงพระราชทานกลับคืนเพื่อเป็นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร นับเป็นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเพียงแห่งเดียวที่มีฝักเป็นทองคำ

เรือหางแมงป่อง : พระราชพาหนะคราวเสด็จประพาสต้น 
   
     เมื่อคราวเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรทางชลมารค พระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินไปครั้งนั้นตาม
ลำน้ำปิงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เรือหางแมงป่อง อันเป็นเรือพื้นถิ่นเหนือ นิยมใช้ในหมู่ชาวเชียงใหม่ ลักษณะเด่นของเรือชนิดนี้ คือ เป็นเรือขุดจากไม้สักทั้งต้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 4 - 8 เมตร ส่วนท้ายเรืองอนเชิดขึ้นคล้ายหางแมงป่อง เป็นเรือที่มีความแข็งแรง ทนทาน ลอยน้ำได้ดี ไม่บิดงอเมื่อปะทะเกาะแก่ง เนื่องจากลำน้ำปิงมีกระแสน้ำเชี่ยวและเกาะแก่งมาก
     ในสมัยแรกเรือหางแมงป่องนิยมใช้ในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ครั้นต่อมาได้มีการใช้เรือหางแมงป่องเป็นพาหนะขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 6 - 9 เดือน  ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกมีความก้าวหน้ามากขึ้น การสัญจรทางน้ำด้วยเรือหางแมงป่องจึงคลายความสำคัญและหายไปจากลำน้ำในที่สุด

event01
อาคารนิทรรศการ 3

     จัดแสดงนิทรรศการถาวรในส่วนสุดท้ายคือกำแพงเพชรในปัจจุบันและชนกลุ่มน้อยซึ่งจะเชื่อมกับส่วนโถงประชาสัมพันธ์แนะนำจังหวัดกำแพงเพชร

     จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีตยังปรากฏให้เห็นผ่านโบราณสถานที่มีความงดงามทางศิลปกรรมนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ทางวัฒนธรรม โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
    กำแพงเพชรยังอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ หินอ่อน ฯลฯ สภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน และการทำประมง ส่งผลให้ปัจจุบันกำแพงเพชรกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง
ป่าไม้และผลิตผลจากป่า
    จังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 2,027.03 ตารางกิโลเมตร ผืนป่าส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านตะวันตก ซึ่งต่อเนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร อันเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น กระทิง เสือลายเมฆ แมวป่า นกเงือกคอแดง นกภูหงอนพม่า ฯลฯ ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกคลองลาน น้ำตกคลองวังเจ้า น้ำตกคลองน้ำไหล ฯลฯ และเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสายสำคัญ ได้แก่ คลองวังเจ้า คลองสวนหมาก
คลองขลุง ที่ไหลมาสมทบกับแม่น้ำปิง ทำให้จังหวัดกำแพงเพชรไม่ขาดแคลนน้ำตลอดปี
    
น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
    แหล่งน้ำมันดิบลานกระบือ สำรวจพบโดยบริษัท ไทยเชลล์ เอ็กพลอเลชั่น แอนด์ โพรดักชั่น จำกัด เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2524 และ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2526 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดแหล่งน้ำมันดิบลานกระบือและมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามแหล่งน้ำมันว่า “สิริกิติ์” ส่วนน้ำมันดิบมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “น้ำมันดิบเพชร” ต่อมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2531 ได้มีการก่อสร้าง
โรงแยกก๊าซ “พลังเพชร” เพื่อใช้ในการผลิตก๊าซหุงต้มและผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แหล่งหินอ่อนสำคัญอยู่ในอำเภอพรานกระต่าย บริเวณทิวเขาสว่างอารมณ์ ทิศตะวันออกของเขาเขียว เขาโทน และเขาหน่อ ในทางธรณีวิทยาหินอ่อนชุดเขาสว่างอารมณ์มีอายุตั้งแต่ยุคไซลูเรียน-ยุคดีโวเนียน (ประมาณ 435 - 345 ล้านปี) เหมาะที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีคุณภาพทัดเทียมกับหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริมการทำเหมืองหินอ่อนในเขตเขาโทน อันเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสว่างอารมณ์

แร่เหล็ก
    แร่เหล็กส่วนใหญ่ในจังหวัดกำแพงเพชรเป็น “แร่เหล็กแดง” มีเนื้อแร่แน่น ผิวด้าน สีเทาดำและสีแดงเลือดหมู ปริมาณเหล็กสูงเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก บริเวณที่พบ ได้แก่ เขาแก้ว เขายอดเหล็ก อำเภอพรานกระต่าย นอกจากนี้บริเวณเหนือวัดโพธารามเชิงเขาแก้ว และในเขตเมืองโบราณบ้านคลองเมือง อำเภอโกสัมพีนคร ยังพบร่องรอยเตาถลุงเหล็ก บ่อขุดแร่เหล็ก และตะกรันแร่ ฯลฯ เป็นหลักฐานที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีการถลุงสินแร่เหล็กนับแต่ครั้งอดีต

แร่ทองคำ
    หลายพื้นที่ในกำแพงเพชร เช่น บริเวณห้วยคลองไพร บ้านนาบ่อคำด้านริมคลองสวนหมาก เป็นพื้นที่ซึ่งเคยปรากฏการขุดทองคำตามริมห้วย รวมทั้งที่เขาลับงา ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งมีการพบสินแร่ทองคำสินแร่ทองคำที่พบนี้ส่วนใหญ่ถูกกระแสน้ำพัดพาไปสะสมกับวัตถุอื่นๆ

วิถีชุมชนคนกำแพงเพชร
    ผู้คนในจังหวัดกำแพงเพชรดำรงชีพโดยอาศัยพื้นฐานทางทรัพยากรธรรมชาติ ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมในท้องถิ่น จึงทำให้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม อุตสาหกรรม และการพาณิชย์

เกษตรกรรม
- การทำนา
    จังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ปลูกข้าว ประมาณ 1.6 ล้านไร่ เดิมชาวนาปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แต่เมื่อมีการเร่งเพิ่มผลผลิตเพื่อการส่งออก ชาวนาในปัจจุบันโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานจึงเปลี่ยนมาทำนาปีละ 2 - 3 ครั้ง โดยผลผลิตส่วนใหญ่เป็นข้าวเจ้า
-  การทำไร่
    พืชไร่ที่สำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยสำหรับ อุตสาหกรรมน้ำตาล ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ฯลฯ โดยเฉพาะมันสำปะหลังมีพื้นที่เก็บเกี่ยวมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากจังหวัดนครราชสีมาและถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการผลิต แปรรูปและการเป็นแหล่งรับซื้อมันสำปะหลังมากที่สุดในภาคเหนือและภาคกลาง
-  การทำสวน
    พืชสวนที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชรมากที่สุด คือ กล้วยไข่ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอพรานกระต่าย และอำเภอไทรงาม กล้วยไข่ที่ปลูกจะมีรสชาติหวานหอม เนื้อละเอียด เนื่องจากดินในจังหวัดกำแพงเพชรเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี
- การเลี้ยงสัตว์
    ในอดีตเกษตรกรมีการเลี้ยงโคและกระบือเพื่อการใช้แรงงานในภาคการเกษตร ต่อมาความนิยมเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนเป็นเพื่อการพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันการเลี้ยงโคและกระบือมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความนิยมในการเลี้ยงสุกร แพะ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ และเป็ด มีมากยิ่งขึ้น
- การทำประมง
    ด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัดที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงพบว่าประชาชนมีการเลี้ยงปลาตามชายฝั่งแม่น้ำปิง ปลาที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียนขาว ปลาช่อน ปลากดคัง ปลาทับทิม ฯลฯ

หัตถกรรมและอุตสาหกรรม
- การทอผ้ามัดหมี่
    ชาวบ้านในตำบลประชาสุขสันต์ อำเภอลานกระบือ ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ซึ่งมีความชำนาญในเรื่องการทอผ้ามัดหมี่ เมื่อเสร็จสิ้นการทำไร่ ทำนา ชาวบ้านจะทอผ้าเพื่อใช้นุ่งห่มในครัวเรือน ต่อมามีผู้นิยมซื้อผ้าทอนั้นไปจำหน่าย จึงเกิดการทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้แก่ครัวเรือน
- การทำเครื่องเงิน
    หมู่บ้านชนกลุ่มน้อยในเขตอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่มีชื่อเสียง โดยการผลิตเครื่องเงินมีทั้งประเภทสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับ ปัจจุบัน จังหวัดกำแพงเพชรมีศูนย์จำหน่ายเครื่องเงินชาวเขา 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมหัตถกรรมเครื่องเงินชาวเขาบ้านคลองลานและศูนย์จำหน่ายหัตถกรรมพื้นบ้านและชาวเขาหมู่บ้านชาวเขาเพื่อการท่องเที่ยว ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน
- การเป่าแก้ว
    เป็นอาชีพหนึ่งของชาวบ้านโนนจั่น ที่ริเริ่มโดยนายณรงค์ แสงอโน เมื่อ พ.ศ.2531 แก้วที่เป่าขึ้นนี้ได้ส่งไปขายที่กรุงเทพมหานคร ต่อมามีผู้สนใจงานหัตถกรรมประเภทดังกล่าวมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านโนนจั่นประกอบอาชีพเป่าแก้วเป็นอาชีพเสริมเกือบทั้งหมู่บ้าน
- การทำเหมืองหินอ่อน
    จังหวัดกำแพงเพชรมีการทำเหมืองหินอ่อนและโรงงานอุตสาหกรรมผลิตหินอ่อนในอำเภอพรานกระต่าย ผลิตภัณฑ์ที่มาจากแหล่งหินอ่อนแห่งนี้ เช่น แจกันหินอ่อน เครื่องเรือนหินอ่อน วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ

พื้นเพ เผ่าพันธุ์ บรรพบุรุษ
    กำแพงเพชรเป็นพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานนับแต่อดีต และสืบเชื้อสายต่อมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่     
- ลาวโซ่ง (ไททรงดำ)
    ลาวโซ่งหรือไททรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายไท มีถิ่นอาศัยเดิมอยู่ในบริเวณมณฑลกวางสี มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และตังเกี๋ยในเวียดนาม การย้ายถิ่นเข้ามาสู่ไทยเริ่มตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยธนบุรี เนื่องจากเกิดสงครามทำให้มีการกวาดต้อนชาวลาวโซ่ง รวมทั้งชาวลาวเวียงจันทน์จากเมืองม่วยและเมืองทันเข้ามา ปัจจุบันบริเวณที่กลุ่มลาวโซ่งตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอลานกระบือ
- ไทยล้านนา (ไทยวน)    
     ไทยล้านนาหรือไทยวน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตามตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า สิงหนวัติกุมารโอรสของท้าวเทวกาล ได้นำผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ลุ่มน้ำโขงตอนใต้ (สันนิษฐานว่าอาจเป็นเมืองเชียงแสนในจังหวัดเชียงราย) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงทำสงครามกับเมืองเชียงแสน และกวาดต้อนผู้คนไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เวียงจันทน์ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สระบุรี ราชบุรี กรุงเทพฯ กลุ่มชาวไทยล้านนาในจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนใหญ่มีการย้ายถิ่นฐานมาจากเชียงใหม่และลำปาง เพื่อหาพื้นที่ประกอบอาชีพ โดยพบชุมชนขนาดย่อมของกลุ่มชาวไทยล้านนากระจายอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอคลองลาน
- กลุ่มชนม้ง (แม้ว)
    ม้ง เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาในสาขาตระกูลภาษาม้ง - เมี่ยน (แม้ว - เย้า หรือ เมี่ยว - เย้า) ของภาษาตระกูลจีน - ทิเบต มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในจีน ทิเบต และมองโกเลีย ต่อมาย้ายถิ่นฐานลงมาทางใต้ สันนิษฐานว่าการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยอาจเริ่มเมื่อราวกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว โดยตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่บริเวณพื้นที่สูงของภาคเหนือและภาคกลางตอนบน เฉพาะกลุ่มชนม้งในจังหวัดกำแพงเพชร พบการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในบริเวณอำเภอ
โกสัมพีนคร อำเภอคลองลาน และอำเภอปางศิลาทอง
     กลุ่มชนม้งนิยมตั้งบ้านเรือนบนที่สูง ใช้วงล้อมแนวเขา ช่วยกำบังลมและฝน เรือนแต่ละหลังสร้างหันหน้าออกจากภูเขา และไม่นิยมสร้างเรือนซ้อนกัน แต่จะสร้างเรียงเป็นหย่อมๆ หย่อมละ 7 - 8 หลัง แต่ละกลุ่มเรือนล้วนเป็นเครือญาติเดียวกัน ภายในเรือนม้งมีการใช้พื้นที่ แบ่งเป็น โถงใหญ่ใช้เป็นที่อยู่ ที่กิน และที่พักผ่อน กลางพื้นที่โถงเป็นที่ตั้งของเตาไฟ ด้านหนึ่งของโถงตั้งหิ้งผีหรือศาลบรรพชน อีกด้านหนึ่งวางครกกระเดื่องตำข้าว บริเวณมุมโถงวางแคร่นอนของแขกผู้มาเยือน พื้นที่ส่วนที่เหลือกั้นเป็นห้องนอนเล็กของสมาชิกภายในเรือนแต่ละคน ใต้หลังคาเรือนยังใช้เป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชและเครื่องมือการเกษตร
     เครื่องแต่งกายกลุ่มชนม้ง (แม้ว)
     สตรี : สวมเสื้อผ่าอกพื้นดำ แขนยาวปักลายด้านหน้า นุ่งกระโปรงปักลาย และอัดเป็นจีบรอบตัว ขอบกระโปรง ยาว เสมอ เข่ามีแผ่นผ้าปักลายผูกเอวทับด้านหน้ากระโปรงอีกชั้นหนึ่ง
     บุรุษ : สวมเสื้อผ่าอกพื้นดำแขนยาวนุ่งกางเกงทรงหลวมสีดำขายาว มีแผ่นผ้าปักผูกเอวทับด้านหน้า
- กลุ่มชนกะเหรี่ยง (ยาง)
    กะเหรี่ยง (ยาง) เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาในตระกูลจีน - ทิเบต สันนิษฐานว่าถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณตะวันออกของทิเบต ต่อมามีการย้ายถิ่นฐานลงมาทางใต้ตามลำน้ำหยังจื้อ ลำน้ำโขง และลำน้ำสาละวินโดยการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือและตะวันตกของไทยอาจเริ่มเมื่อประมาณสองศตวรรษที่ผ่านมา สำหรับในกำแพงเพชรพบการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนกะเหรี่ยงในเขตอำเภอโกสัมพีนคร และอำเภอคลองลาน กลุ่มชนกะเหรี่ยงนิยมตั้งชุมชนบริเวณชายเขา ในระดับความสูงของพื้นที่ต่ำกว่า
    การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนกลุ่มอื่น ๆ และอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกการทำนาและการอุปโภคบริโภคในชุมชน ลักษณะเรือนที่อยู่อาศัยนิยมสร้างยกพื้นสูงใช้วัสดุธรรมชาติในการก่อสร้างตัวเรือน เช่น ไม้ไผ่ แฝก หญ้าคา ใบต๋าว ฯลฯ บนเรือนใช้เป็นที่พักอาศัย ส่วนใต้ถุนเรือนใช้นั่งเล่นตำข้าว ผ่าฟืน เลื่อยไม้ ทำคอกสัตว์ ฯลฯ
    กลุ่มชนกะเหรี่ยงนี้ มีการทำหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ คือ การทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งมีสีสัน และลวดลายที่สลับซับซ้อนอันเป็นลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
     เครื่องแต่งกายกลุ่มชนกะเหรี่ยง (ยาง)
     สตรี : สวมเสื้อที่ทำด้วยผ้าสองชิ้นเย็บติดกัน เว้นตรงกลางเพื่อสวมทางศีรษะ นุ่งผ้าซิ่นหรือโสร่งทอตกแต่งลายสลับซับซ้อน โดยเครื่องแต่งกายของกลุ่มชนกะเหรี่ยงนิยมใช้สีแดง หรือดำเป็นสีพื้น
     บุรุษ : สวมเสื้อลักษณะเดียวกันกับเสื้อของสตรี นุ่งโสร่งหรือกางเกงขาก๊วย โดยนิยมใช้สีแดง หรือดำเป็นสีพื้นเช่นเดียวกัน
- กลุ่มชนลิซู (ลีซอ)
    ลิซู (ลีซอ) เป็นกลุ่มชนใช้ภาษาในตระกูลทิเบต - พม่า สันนิษฐานว่าถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณต้นน้ำสาละวินในเมียนมาร์ก่อนที่บางส่วนจะเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของไทยเมื่อประมาณกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สำหรับในกำแพงเพชรพบกลุ่มชนลิซูตั้งถิ่นฐานอยู่เฉพาะในอำเภอคลองลาน
    กลุ่มชนลิซูนิยมตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง สร้างเรือนพักอาศัยหันหน้าออกจากภูเขา เรือนลิซูแต่ละหลังมักสร้างเยื้องกัน โดยมีระยะห่างเล็กน้อยในแต่ละหลัง ตามความเชื่อว่า หากปลูกตรงกันและมีระยะของเรือนแต่หลังประชิดจะเป็นการขวางทางผี รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เพลิงลุกลามไปติดเรือนใกล้เคียงในกรณีเกิดเพลิงไหม้ ภายในเรือนมีโถงใหญ่กลางเรือนเป็นที่ตั้งของเตาไฟใหญ่ 2 จุด โดยใช้เป็นที่หุงต้มอาหารและให้ความอบอุ่นในเวลาค่ำ บริเวณมุมห้องมีแคร่สำหรับบุคคลภายนอกครอบครัวและผู้อยู่อาศัยในเรือน ส่วนบุตรสาวของบ้านจะกั้นห้องนอนอยู่อีกมุมหนึ่งอีกด้านหนึ่งของพื้นที่โถงตั้งศาลบูชาบรรพบุรุษ
     เครื่องแต่งกายกลุ่มชนลิซู (ลีซอ)
     สตรี : สวมเสื้อคอกลมทรงหลวมพื้นสีฟ้าหรือน้ำเงิน แขนยาว ตัวเสื้อผ่าหน้า ป้ายด้านข้าง ตกแต่งขอบคอ บ่า ต้นแขนเสื้อด้วยการปักและแทรกแถบผ้าขนาดเล็กสีสันสดใส ขอบชายเสื้อยาวคลุมเข่า สวมกางเกงทรงกระชับตัว โดยมีแถบผ้าสีสดใส เช่น แดง ส้ม น้ำเงิน ฟ้า เขียว เหลือง ฯลฯ ซ้อนทับตกแต่งด้วยพู่ไหมพรมสีสดคาดทับเสื้อเป็นเข็มขัด
     บุรุษ : สวมเสื้อคอกลมทรงหลวมพื้นสีดำ ตัวเสื้อผ่าหน้าป้ายด้านข้าง ตกแต่งขอบคอเสื้อ สวมกางเกงทรงหลวมพื้นสีน้ำเงิน คาดเข็มขัดเป็นแถบผ้าสีสดใส ตกแต่งด้วยพู่ไหมพรมสีสด
- กลุ่มชนเมี้ยน (เย้า)
      เมี้ยน (เย้า) เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาในตระกูลจีน - ทิเบต สันนิษฐานว่าถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน เมื่อราวกว่าหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาจึงมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเทือกเขาทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของไทย สำหรับจังหวัดกำแพงเพชรพบกลุ่มชนเมี้ยนตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตอำเภอปางศิลาทอง อำเภอคลองขลุงและอำเภอคลองลาน กลุ่มชนเมี้ยนนิยมตั้งบ้านเรือนในบริเวณลาดไหล่เขา ใกล้ป่าและแหล่งน้ำ โดยสร้างเรือนพักอาศัยชั้นเดียว ปลูกติดพื้นดิน ภายในเรือนมีประตูทางเข้าสามทาง แบ่งเป็น ประตูทางซ้ายเป็นของฝ่ายชายเปิดเข้าสู่พื้นที่โถงรับแขกในเรือน ส่วนประตูทางขวาเป็นของฝ่ายหญิงเปิดเข้าสู่พื้นที่ครัว และประตูใหญ่ทางด้านหน้าใช้เป็นทางเข้า - ออก เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมในเรือน ตรงข้ามประตูใหญ่มีศาลพระภูมิหรือศาลบรรพบุรุษด้านหลังศาลพระภูมิหรือศาลบรรพบุรุษนี้ กั้นเป็นห้องนอนของผู้อยู่อาศัยในเรือน ทั้งนี้กลุ่มชนเมี้ยนจะให้ความสำคัญต่อตัวเรือนพักอาศัยมากกว่าบริเวณพื้นที่หมู่บ้าน จึงไม่ปรากฏการสร้างประตูหมู่บ้าน ศาลาพิธีหรือลานเต้นรำ รวมทั้งไม่มีการกำหนดขอบเขตของหมู่บ้านอย่างแน่ชัดเหมือนกลุ่มชนอื่น