bai sema 13icon zoom

ชื่อโบราณวัตถุ :
ใบเสมาจันทกุมารชาดก
แบบศิลปะ :
ทวารวดี
ชนิด : 
หินทราย
ขนาด :
กว้าง 82 สูง 153 หนา 20 เซนติเมตร
อายุสมัย :
ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
ลักษณะ :
ลักษณะและรายละเอียด
     ลักษระเป็นใบเสมาแบบแผ่นหินแบน สภาพสมบูรณ์ ลวดลายค่อนข้างลบเลือน ส่วนฐานแตกกะเทาะ ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งคล้ายกลีบบัว ยอดสอบแหลม สลักภาพเล่าเรื่องที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว เป็นภาพบุคคลอยู่บริเวณมุมขวาทางตอนบนของภาพ แต่งกายคล้ายนกษัตริย์ สวมศิราภรณ์ กุณฑล พาหุรัด ลักษณะคล้ายกำลังลอยอยู่ในอากาศ พระหัตถ์ขวาถือวัตถุยาวลักษณะคล้ายอาวุธเงื้อขึ้นคล้ายจะเข้าทำลายพิธีบูชายัญที่อยู่ด้านล่าง พระหัตถ์ซ้ายยื่นไปด้านหน้า นอกจากนี้ยังปรากฏองค์ประกอบภาพอื่นๆ ได้แก่ ต้นไม้ พุ่มไม้ และส่วนโครงสร้างของซุ้มอาคารเครื่องไม้
การวิเคราะห์เนื้อหา
     พิริยะ ไกรฤกษ์ ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพสลักที่ปรากฏบนใบเสมาหินทรายแผ่นนี้ และสันนิษฐานว่าเป็นภาพเล่าเรื่องในชาดก เรื่อง จันทกุมารชาดก เหตุการณ์ในภาพเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระอินทร์ คือ ท้าวสักกะเทวราชทรงถือค้อนเหล็กอันโชนไฟเสด็จลงมาระงับการบูชายัญของพระเจ้าเอกราช จากภาพที่ปรากฏสันนิษฐานว่า รูปบุคคลกำลังเหาะอยู่บนอากาศน่าจะเป็นพระอินทร์ คือท้าวสักกะเทวราช เนื่องจากคล้ายกำลังลอยอยู่ในอากาศ พระหัตถ์ขวาถือวัตถุยาวลักษณะคล้ายอาวุธเงื้อขึ้นคล้ายจะเข้าทำลายพิธีบูชายัญที่อยู่ด้านล่างพระหัตถ์ซ้ายยื่นไปข้างหน้า ฉากด้านหลังมีการสลักโครงสร้างของซุ้มอาคารเครื่องไม้ ที่แสดงให้เห็นว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมือง เหตุการณ์ในชาดกเรื่องนี้มีดังนี้
     "พระจันทกุมาร เป็นพระโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งกรุงบุปผวดีพระเจ้าเอกราชมีปุโรหิตราชครู ชื่อ พราหมณ์กัณฑหาละ ซึ่งทำหน้าที่ถวายอรรถธรรมและวินิจฉัยคดีความ ปุโรหิตผู้นี้ชอบรับสินบนจึงวินิจฉัยคดีอย่างขาดความยุติธรรม วันหนึ่งจึงมีการร้องทุกข์ขึ้น พระจันทกุมารจึงตัดสินคดีใหม่ให้มีความยุติธรรม พระเจ้าเอกราชจึงทรงแต่งตั้งพระจันทกุมารเป็นผู้วินิจฉัยคดีความแทน ส่งผลให้พราหมณ์กัณฑหาละโกรธแค้นและผูกอาฆาตพระจันทกุมาร วันหนึ่งพระเจ้าเอกราชทรงพระสุบินเห็นภาพในสรวงสวรรค์จึงตรัสถามพราหมณ์กัณฑหาละว่า ทำอย่างไรพระองค์จึงจะได้ไปเกิดในสวรรค์ พราหมณ์กัณฑหาละจึงทูลให้พระเจ้าเอกราชทำพิธีบูชายัญด้วยพระโอรส พระราชธิดา พระมเหสี ช้างทรง โคเผือก ม้าทรง และเศรษฐีจำนวนหนึ่ง พระเจ้าเอกราชหลงเชื่อจึงมอบให้พราหมณ์กัณฑหาละจัดพิธีบูชายัญ แม้ผู้ใดจะทูลวิงวอนก็ไม่ฟัง พระจันทกุมารต้องมีขันติต่อการถูกทารุณด้วยวิธีการต่างๆหลายครั้ง ในที่สุดจึงถูกจับฝังดินเพื่อบูชายัญ พระนางจันทเทวีชายาของพระจันทกุมาร จึงอธิษฐานขอให้เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยเหลือด้วยแรงอธิษฐานทำให้พระอินทร์ คือ ท้าวสักกะเทวราชจำแลงกายเป็นยักษ์ถือกระบองเหล็กลุกเป็นไฟเหาะลงมาทำลายพิธีบูชายัญ พราหมณ์กัณฑหาละถูกประชาชนลงทัณฑ์จนตาย ส่วนพระเจ้าเอกราชถูกขับไล่ออกจากพระนคร หลังจากนั้นพระจันทกุมารจึงได้รับการอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติและปกครองโดยกุศลธรรมตลอดพระชนมายุ"
     ภาพเหตุการณ์ตอนนี้ในชาดกเรื่องนี้ยังคงปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามพระอุโบสถของวัดสำคัญหลายแห่ง เช่น วัดเครือวัลย์วรวิหาร ช่องที่ 486 กรุงเทพมหานคร วัดสุวรรณดาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี ภาพจิตรกรรมจากสมุดไทย วัดสุวรรณภุมิ จังหวัดสุพรรณบุรี ภาพจิตรกรรมในสมุดข่อยที่พิพิธภัณฑ์เขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และภาพลาลรดน้ำบนตู้พระธรรมที่เก็บรักษาไว้ภายในหอพระสมุดวชิรญาณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น
ประวัติ :
ได้จากบ้านเสมา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
สถานที่จัดแสดง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

z bai sema 01
icon zoom 2