bai sema 11icon zoom

ชื่อโบราณวัตถุ :
ใบเสมามหาชนกชาดก
แบบศิลปะ :
ทวารวดี
ชนิด : 
หินทราย
ขนาด :
กว้าง 59 สูง 56.5 หนา 10.5 เซนติเมตร
อายุสมัย :
ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 16
ลักษณะ :
ลักษณะและรายละเอียด
     เป็นใบเสมาแบบแผ่นหินแบน สภาพชำรุด ส่วนยอดและส่วนฐานหักหายไป มีภาพสลักที่ด้านหน้า องค์ประกอบของภาพประกอบด้วยรูปบุคคล 2 คน บุคคลที่ 1 อยู่บริเวณตอนล่างของภาพ ลักษณะคล้ายนักบวช ไม่มีพระเกศา พระกรรณยาว ไม่สวมเครื่องประดับ การแต่งกายช่วงบนมีลักษณะคล้ายครองจีวรห่มเฉียง ผินพระพักตร์ไปทางบุคคลที่ 2 ของภาพ พระหัตถ์ซ้ายถือวัตถุรูปร่างยาว ปลายด้านบนทำเป็นห่วงกลมลักษณะคล้ายขักขระ บุคคลที่ 2 เป็นรูปสตรี อยู่ทางด้านขวามือบริเวณด้านบนของภาพ ขมวดมุ่น พระเกศาที่กลางศีรษะ สวมกุณฑลรูปทรงเรียวยาว อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งคุกเข่าโน้มตัวไปด้านหน้า ก้มพระเศียร พระหัตถ์ขวายกขึ้นในระดับพระอุระ
การวิเคราะห์เนื้อหา
     พิริยะ ไกรฤกษ์ ทำการศึกษาวิเคราะห์ภาพสลักบนใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่องใบนี้และสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องราวในมหานิบาตชาดก เรื่องมหาชนกชาดก เป็นเหตุการณ์ตอนที่พระมหาชนกตัดสินพระทัยปลงผมออกผนวชเนื่องจากเกิดความเบื่อหน่ายและเห็นโทษของการครองราชสมบัติ พระนางสีวลีติดตามไปทูลอ้อนวอนให้เสด็จกลับคืนพระนครแต่ไม่สำเร็จ ภาพบุคคลบริเวณด้านล่างของภาพที่แต่งกายคล้ายนักบวช ในมือถือไม้เท้าของนักบวชที่ใช้ในการเดินทาง น่าจะหมายถึงพระมหาชนกที่ทรงออกผนวชและออกเดินทางไปประทับที่ป่าหิมพานต์ ส่วนสตรีที่อยู่ด้านบนของภาพอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งคุกเข่าโน้มตัวไปด้านหน้า ก้มพระเศียร พระหัตถ์ขวายกขึ้นในระดับพระอุระลักษณะคล้ายอยู่ในอาการเศร้าโศก น่าจะหมายถึงพระนางสีวลีที่ตามไปทูลอ้อนวอนให้พระมหาชนกกลับมาปกครองบ้านเมืองแต่ไม่สำเร็จ
     แต่ยังคงมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับองค์ประกอบที่ปรากฏในภาพ เนื่องจากลักษณะการแต่งกายของสตรีที่อยู่ด้านบนของภาพไม่ได้สวมศิราภรณ์มงกุฎและเครื่องแต่งกายแบบคนชั้นสูงในวรรณะกษัตริย์ อีกทั้งการแสดงอิริยาบถประทับนั่งคุกเข่าโน้มตัวไปด้านหน้า ก้มพระเศียร พระหัตถ์ขวายกขึ้นในระดับพระอุระ อาจไม่ได้หมายถึงอาการโศกเศร้า แต่อาจเป็นการแสดงความเคารพบุคคลที่อยู่ทางตอนล่างของภาพ จึงยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเป็นภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ในชาดก เรื่อง มหาชนกชาดกจริงหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการและผู้ที่สนใจควรช่วยกันศึกษาวิเคราะห์และหาหลักฐานในการอ้างอิงเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาต่อไปในอนาคต
     ในสมัยต่อมายังคงนิยมวาดภาพจิตรกรรมจากชาดกเรื่องมหาชนกชาดกอย่างแพร่หลาย แต่เหตุการณ์ในตอนนี้พบไม่มากนัก เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถวัดดาวดึงส์ ธนบุรี กรุงเทพมหานคร ภาพจิตรกรรมจากสมุดไทย วัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี และบนตู้พระธรรมลายรดน้ำที่หอพระสมุดวชิรญาณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น
ประวัติ :
ได้จากอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
สถานที่จัดแสดง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

z bai sema 01
icon zoom 2