03

พระพุทธชินราช
      เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย เป็นพระประธานด้วยพุทธลักษณะที่งดงาม (มีความอ่อนช้อย นุ่มนวล) ของพระพุทธชินราชนั้นเปรียบเสมือนสวรรค์สร้าง มีตำนานเล่าต่อกันมาว่าขณะหล่อพระนั้นพระชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อสำเร็จแต่ไม่สามารถหล่อพระพุทธชินราชได้สำเร็จจนมีชีปะขาว (เชื่อว่าเป็นเทวดาแปลงมา) เป็นผู้เททองหล่อพระพุทธชินราชจนสำเร็จ บานประตูวิหารพระพุทธชินราช เป็นบานประตูประดับมุกที่สร้างเป็นลวดลายวิจิตรบรรจง และมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยบานประตูเก่าซึ่งเป็นบานประตูไม้แกะสลักนั้นได้ไปอยู่ที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ และผนังวิหารพระพุทธชินราชมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก ชุมนุมเทวดา และพุทธประวัติ พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญของคนไทย พระพุทธชินราช องค์ที่ประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลกนั้นเป็นที่ รู้กันว่ามีความสำคัญมากองค์หนึ่งและถูกยกย่องว่า “งาม” ที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปทั้งหลายในเมืองไทย พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตกของ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเป็นด้านหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพุทธชินราช มีหน้าตักกว้าง 5 ศอก คืบ 5 นิ้ว ผันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ
พระพุทธชินสีห์
      พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว  สองข้างพระพุทธชินสีห์มีรูปพระอัครสาวกคู่หนึ่ง สันนิษฐานว่า สมเด็จพระธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับพระพุทธชินราช และพระศรีศาสดา เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารด้านทิศเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาวิหารชำรุดทรุดโทรมลง สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่มุขหลังของพระอุโบสถจัตุรมุข วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพุทธศักราช 2374
       ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะยังทรงผนวช  ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษ ฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถหน้าพระพุทธสุวรรณเขต เมื่อพุทธศักราช 2380 แล้วได้ติดทองกะไหล่พระรัศมี  ฝังพระเนตร และฝังเพชรที่พระอุณาโลมใหม่ พร้อมทั้งปิดทององค์พระพุทธรูป ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในพุทธศักราช 2394 โปรดเกล้าฯให้แผ่แผ่นทองคำลงยาราชาวดีประดับพระรัศมีเดิม ถวายฉัตรตาด 9 ชั้น ถวายผ้าทรงสะพักตาด ต้นไม้เงินทอง และกลองมโหระทึกสำหรับประโคมในเวลาพระสงฆ์บูชาเช้าค่ำเป็นเกียรติยศ พุทธศักราช 2389 โปรดเกล้าฯให้หล่อฐานสำริดปิดทองใหม่มีการสมโภช  พุทธศักราช 2409 ทรงสมโภชอีครั้งและถวายพระธำมรงค์หยกสวมนิ้วพระอังคุฐซ้าย
พระศรีศาสดา
      
การสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 พระองค์ ของเมืองพิษณุโลกนั้น มีตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 1500 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้ จึงทรงสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก ทำนองว่าเป็นเมืองอันพระวิษณุกรรมเสด็จลงมาสร้าง ครั้นสร้างพระนครเสร็จแล้ว มีพระราชศรัทธาสร้างวัดวาอาราม มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง แล้วทรงหล่อพระพุทธรูป 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินราช ณ พระวิหารใหญ่ ทิศตะวันตกของพระมหาธาตุประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ณ พระวิหารใหญ่ทิศตะวันออก ทางทิศเหนือองค์หนึ่ง ทิศใต้องค์หนึ่ง พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา จึงประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกันตลอดมา ถึง 900 กว่าปี จนกระทั่งมีการอัญเชิญลงมากรุงเทพฯ ทั้งสององค์ คือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา

พระศาสดา สร้างคราวเดียวกับพระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศใต้ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดไม่มีผู้ปฏิสังขรณ์ จึงได้อัญเชิญพระศาสดามาไว้ ที่วัดบางอ้อช้าง ทางแม่น้ำอ้อม จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ต้นสมัยกรุง รัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติปฏิสังขรณ์วัดประดู่ คลองบางหลวง จึงได้ขออัญเชิญ พระศาสดาไปเป็นพระประธาน
    ล่วงมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระราชดำริว่า "พระศาสดา"เป็นพระพุทธรูป อยู่ที่พระอารามหลวงมา แต่โบราณไม่สมควรอยู่ที่วัดอื่น จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมา ประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อ พ.ศ. 2396 ต่อมาได้ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดาและพระพุทธชินสีห์ เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นใน วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญพระศาสดาจากวัดสุทัศน์ ฯ ไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น เมื่อ พ.ศ. 2406
พระเหลือ
    (ซุ้มองค์พระที่อยู่ทางเข้าวิหารพระพุทธชินราชราช ซึ่งอยู่ทางด้านขวาเมื่อเดินเข้าหาวิหารพระพุทธชินราช)
      พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ
พระอัฏฐารส
      เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราชราว พ.ศ. 1811 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง
วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน
     เป็นวิหารจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า ภายในประดิษฐานหีบทองบรรจุพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่บนจิตกาธาน มีพระพุทธสาวกนั่งอยู่โดยรอบหีบพระศพจำลอง ภายในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระพุทธชินราช ,วัดใหญ่) ยังมีวิหารหลวงพ่อคง หลวงพ่อขาว วิหารพระพุทธบาทจำลอง กลองอินทเภรี และโพธิ์สามเส้า ด้านหลังวิหารหลวงพ่อเหลือ เชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงปลูกไว้

 

01

"04”

"07”