icon menu menu new r1 c1 menu new r1 c2 menu new r1 c3 menu new r1 c4 menu new r1 c5

 

ผังอาคาร 4 ชั้นที่ 3
    ส่วนที่ 1 ศูนย์แห่งการทดลอง ศึกษา และพัฒนา
    ส่วนที่ 2 พระราชปณิธานอันมั่นคง
    ส่วนที่ 3 โครงการพระราชดำริฝนหลวง
    ส่วนที่ 4 การบริหารจัดการน้ำ
    ส่วนที่ 5 ทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง
    ส่วนที่ 6 พระปรีชาสามารถด้านศิลปะ
    ส่วนที่ 7 พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม


4 3

rama9 02 rama9 02 rama9 02 rama9 02
rama9 02 rama9 02 rama9 02

 

ส่วนที่ 1 ศูนย์แห่งการทดลอง ศึกษา และพัฒนา
    จัดแสดงประวัติความเป็นมาของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ประมวลพระบรมฉายาลักษณ์ใน พระราชอิริยาบถต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะประทับและทรงงานภายในพระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน รวมถึงการพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
    การก่อตั้งวงดนตรีลายครามและสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับประชาชน ซึ่งปัจจุบันสถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงเป็น “สถานีวิทยุส่วนพระองค์” ที่มีบทบาท ในการนำเสนอทั้งข่าวและรายการสาระบันเทิงต่างๆ อย่างครบครันแก่ผู้ฟังทุกระดับ ตามพระราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ส่วนที่ 2 พระราชปณิธานอันมั่นคง
    จัดแสดงโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นโครงการตัวอย่าง เป็นแหล่งรวม ความรู้และแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริ พระบรมราโชบายในการดำเนินงานโครงการต่างๆ รวมทั้งการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานและกระบวนการการผลิตของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้แก่ โรงโคนม โรงนมผง สวนดุสิต โรงนมเม็ด โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงบดแกลบ โครงการผลิตน้ำเย็นจากพลังงานความร้อนที่ได้ จากการเผาแกลบ โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์และโรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลิตอบแห้ง โรงปุ๋ยอินทรีย์ โครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจัดแสดงแบบจำลองแสดงกระบวนการทำงานและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่ในบริเวรสวนจิตรลดาให้เป็นที่ทดลองต่างๆ ได้แก่ นาข้าวทดลอง ป่าไม้สาธิต บ่อเพาะเลี้ยงปลานิล และสวนพืชสมุนไพร


ส่วนที่ 3 โครงการพระราชดำริฝนหลวง
    นำเสนอพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2498 ที่ก่อเกิดเป็น โครงการพระราชดำริฝนหลวง ทรงประดิษฐ์ภาพตำราประมวลขั้นตอนกรรมวิธีการทำฝนหลวง และพระราชทานให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการ และพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้นำ  “ตำราฝนหลวง” ไปร่วมจัดแสดงในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางเทคโนโลยี “Brussels Eureka 2001” และได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้านสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสาธารณชน
    นอกจากนี้ ยังได้แสดงถึงพัฒนาการของโครงการฝนหลวงตั้งแต่พระราชทานพระราชดำริใน พุทธศักราช 2498 จนถึงปัจจุบัน ประมวลภารกิจฝนหลวงที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากภัยแล้งตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2512 จนถึงปัจจุบัน และรวบรวมภาพเครื่องบินปฏิบัติการรุ่นต่างๆ

ส่วนที่ 4 การบริหารจัดการน้ำ
    จัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรูปแบบและพระราชดำริ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ได้แก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอาการที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตร ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการแก้มลิง แนวพระราชดำริ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” โครงการปรับปรุงบึงมักกะสันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่บึง พระราม 9 รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินตรวจพื้นที่น้ำท่วมและทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง
    นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานโครงการสร้างเขื่อนและพัฒนาแหล่งน้ำ ที่สำคัญซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายาก โครงการชลประทานแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำพูน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนนคร และจังหวัดนครพนม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำพระยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการพัฒนาพื้นที่ปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนที่ 5 ทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง
    นำเสนอแนวคิดและขั้นตอนการดำเนินงาน “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างแบบที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาแบบยั่งยืน ผสมผสานของราษฎรกับสภาวะแวดล้อม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้แบบจำลอง “ทฤษฎีใหม่” ในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดแสดงผ่านแบบจำลองการใช้ประโยชน์พื้นที่ เกษตรทฤษฎีใหม่และแสดงตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการใช้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่

ส่วนที่ 6 พระปรีชาสามารถด้านศิลปะ
    แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงศึกษาและสร้างสรรค์ ผลงานด้านศิลปะไว้ถึง 6 สาขา ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย หัตถกรรม ดนตรี และวรรณศิลป์ ซึ่งมีผลงานที่ปรากฏต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของ แผ่นดินและของโลก เมื่อพุทธศักราช 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพราชสมัญญา “อัครศิลปิน”

ส่วนที่ 7 พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
    นำเสนอเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งโรงเรียนต่างๆ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาตามโอกาสอันควร รวมทั้งพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ได้แก่ การพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยของรัฐ การพระราชทานทุนการศึกษา การจัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการพระดาบส โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ตามพระราชประสงค์ เป็นต้น
    ด้านศาสนา แสดงให้เห็นว่าทรงเป็นองค์พุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก ทั้งยังทรงส่งเสริม ศาสนาทั้งในเรื่องการศึกษาพระปรัยัติธรรม การส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนาที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน
    ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทรงฟื้นฟูและสืบสานพระราชประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ทรงเห็นความสำคัญและคุณค่าด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย ทรงสนพระราชหฤทัยและตระหนักถึงความสำคัญ ของงานด้านสถาปัตยกรรมและช่างศิลป์ไทย ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนในชาติ ทรงส่งเสริมกิจการห้อง สมุดและหอสมุดแห่งชาติ และทรงห่วงใยการจัดเก็บเอกสารเก่าที่เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อใช้ในการศึกษา วินิจฉัยหรืออ้างอิง