ประวัติความเป็นมา

01

               พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น  ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังดุสิตริมถนนอู่ทองใน  ภายในอาคารจัดแสดงมีการนำเสนอเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับช้างต้น  ซึ่งหมายถึงช้างสำคัญที่ได้รับการขึ้นระวางเป็นช้างหลวงส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์  ด้วยในสังคมไทยและสังคมเอเชีย อาคเนย์ถือว่าช้างที่มีคุณลักษณะพิเศษอันเป็นมงคลจะนำมาซึ่งพระบารมีอันเกริกไกรยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน  บ้านเมืองอุดมทั้งธัญญาหาร ภักษาหาร  และอาณาประชาราษฎร์จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข  จึงจัดเป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ประวัติสถานที่เดิม เป็นโรงช้างต้นในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงช้างต้น พระราชทานแก่ พระเศวตอุดมวารณ์ ยืนโรง  หลังจากได้ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระหว่างเมื่อ พ.ศ.2449 และล้มไปในปี พ.ศ.2452

              รัชกาลที่ 6 ในช่วงปีพ.ศ.2454 มีช้างเผือกมาสู่บารมี พระยาเพ็ชรพิไลยศรีสวัสดิ์ คล้องได้นำมาถวาย จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง ณ มณฑลพระราชพิธิที่สวนมิสกวัน พระราชทานนามว่า พระเศวตวชิรพาหฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยืนโรง อยู่ที่โรงช้างต้นแห่งนี้ และล้มไปในปี พ.ศ. 2488

             รัชกาลที่ 7 ในช่วงปี พ.ศ. 2470 ได้มีช้างเผือกมาสู่พระบารมี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวาง  พระราชทานนามว่า พระเศวตคชเดชดิลกฯ จึงได้จัดสร้างโรงช้างต้นขึ้นอีกโรงหนึ่งคู่กับโรงช้างต้น พระเศวตวชิรพาหฯ ต่อเมื่อ พระเศวตวชิรพาหฯ และ พระเศวตคชเดชดิลกฯ ล้มไปแล้ว โรงช้างต้นทั้งสองจึงได้ว่างลงตราบจนกระทั่ง ถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้นถึง พ.ศ. 2502  ได้มีช้างเผือกมาสู่พระบารมี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์โรงช้างต้นซึ่งพระเศวตวชิรพาหฯ เคยยืนโรงขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกเชือกแรกในรัชกาลโปรดพระราชทานนามว่า พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงช้างต้นขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อให้โรงช้างต้นอยู่ในเขตพระราชฐานใกล้ที่ประทับ ระหว่างที่กำลังก่อสร้างโรงช้างต้นนั้น โปรดให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ไปยืนโรงที่เขาดินวนาเป็นการชั่วคราว เมื่อโรงช้างสร้างเสร็จแล้ว จึงได้ไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

             เนื่องจากพระที่นั่งอนันตสมาคมได้เป็นที่ทำการรัฐสภา ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 สืบมาจนถึง พ.ศ. 2517 เมื่อรัฐบาลสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ ด้านหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม รัฐสภาเห็นว่าอาคารโรงช้างต้นชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา  จึงขอความเห็นชอบสำนักพระราชวัง เพื่อรื้อโรงช้างต้นออกจากบริเวณรัฐสภา สำนักพระราชวังได้ร่วมกันปรึกษากับกรมศิลปากร พิจารณาเห็นว่าโรงช้างต้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะอาคารมีความสำคัญทางด้านสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณีที่เกี่ยวกับช้างเผือก ซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จึงดำเนินการขออนุรักษ์รักษาไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์  และจารีตประเพณี  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2517 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน        

             วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2531 กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ช้างต้น ปี พ.ศ. 2535 ได้เปิดให้บริการเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์พระบรมราชินีนาถ  ทรงพระเจริญมายุครบ 60 พรรษา
 
             อาคารโรงช้างต้น เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย  ก่ออิฐถือปูน อาคารทรงไทยขนาดกว้าง 12.50 เมตร ยาว15 เมตร มีประตูเข้าออกด้านหน้า และด้านหลังมีประตูขนาดเล็กสำหรับผู้ดูแลช้าง หน้าต่างรอบอาคาร 17 บาน ภายในมีแท่น เบญพาด สำหรับช้างต้นยืนโรง ลักษณะแท่นเบญพาด ประกอบด้วยเสาตะลุง 2 ต้น ยอดเสาทำเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัน มีเสากลมขนาดเล็กพาดกลาง ระหว่างเสาตะลุงทั้งสอง  เสาตะลุงแต่ละต้นฝังดินครึ่งหนึ่งของความยาวลำต้น   เพราะต้องการความแข็งแรงเพื่อทานกำลังช้างได้  เสาตะลุงด้านหัวช้างจะอยู่สูงกว่าด้านท้ายช้าง  ระยะห่างระหว่างเสาตะลุงขึ้นอยู่กับขนาดความยาวของลำตัวช้าง ส่วนหัวช้างจะหันไปทิศใดก็ได้ โดยยกเว้นทิศตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นทิศอัปมงคล  ตรงข้ามเสาตะลุงทั้งสองต้น มีเสาหมอสำหรับตกปลอก (ผูกขา) และเสาหมอ นอกแท่นสำหรับตกปลอกขาหลัง  เมื่อเวลายืนแท่นเบญพาด ยกพื้นสูงพอประมาณ  เพดานตรงแท่นเบญพาดแขวนเบญจาสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำด้วยผ้าขาวลงยันต์เขียนเส้นทอง มีระบายสองชั้นขลิบทอง กลางเบญจาห้อยใบไม้กันภัยได้แก่ ใบเลียบ ใบเงิน ใบทอง ใบหญ้าพันงู  ใบรัก ใบมะเดื่อ ใบอุทุมพร ใบมะม่วง ใบทองกวาว ใบตะขบ ใบมะตูม

01

05

08