นิทรรศการ

แบ่งเนื้อหาการจัดแสดง ดังนี้

จังหวัดชุมพร

TH 01

เป็นการให้รายละเอียด เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นของจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน โดยเฉพาะข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ มีสื่อการจัดแสดงได้แก่ การใช้ภาพโปร่งแสง และคำบรรยาย

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในชุมพร
เป็นการกล่าวถึงร่องรอยหลักฐานการดำรงชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่จังหวัดชุมพร (ในช่วงเวลาราว 2,500 ปีมาแล้ว) โดยใช้ข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดีในการอธิบาย สื่อการจัดแสดงใช้หุ่นจำลองขนาดเท่าจริง (Near Life-Size Diorama) แสดงภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประกอบกับการใช้โบราณวัตถุและภาพถ่ายแหล่งโบราณคดี ในการอธิบายเรื่องราวในช่วงเวลาดังกล่าว

พัฒนาการในช่วงต้นประวัติศาสตร์ (สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์)
เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ระยะแรกเริ่ม (ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 5 - 10) คือ การเกิดขึ้นของชุมชนโบราณบริเวณเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ แสดงถึงพัฒนาการของชุมชนระยะแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และบทบาทความสำคัญของชุมชนแห่งนี้ ในฐานะเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขายกับโลกภายนอก ผ่านหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุ ที่มีความเกี่ยวพันด้านแหล่งกำเนิดจากภูมิภาคต่างถิ่น อาทิเช่น กลองมโหระทึกสำริด หินมีค่าสีต่างๆ (วัตถุดิบในการผลิตลูกปัด) ฯลฯ สื่อการจัดแสดงประกอบด้วย โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว หุ่นจำลองขนาดเล็ก (Miniature Figure Diorama) แสดงภาพชุมชนเมืองท่าโบราณ บริเวณเขาสามแก้ว ภาพถ่ายโบราณวัตถุจากแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว และภาพถ่ายทางอากาศ

สมัยประวัติศาสตร์ในชุมพร
แสดงหลักฐานการอยู่อาศัยและร่องรอยการเกิดขึ้นของชุมชนในสมัยประวัติศาสตร์ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นสมัยสุโขทัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19) สมัยอยุธยา (ราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 23) และสมัยรัตนโกสินทร์ (ราวพุทธศตวรรษที่ 23 - 25) ผ่านมุมมองทางหลักฐานด้านโบราณคดีที่พบในเขตเมืองชุมพร อาทิเช่น ศิลปวัตถุเนื่องในศาสนา และสิ่งของเครื่องใช้ ฯลฯ สื่อการจัดแสดงประกอบด้วย โบราณวัตถุที่พบในเขตเมืองชุมพร แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศ หุ่นจำลองขนาดเล็ก (Miniature Figure Diorama) แสดงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์

ชุมพรกับสงครามโลกครั้งที่ 2
และวีรกรรมของยุวชนทหาร เป็นการจัดแสดงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 และวีรกรรมของยุวชนทหารที่ทำการสู้รบป้องกันอธิปไตยจากการรุกล้ำของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ในเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดชุมพร ในช่วงเช้าของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 สื่อการจัดแสดง ใช้หุ่นจำลองขนาดเล็ก (Miniature Figure Diorama) แสดงเหตุการณ์การสู้รบของยุวชนทหาร กับกองกำลังทหารญี่ปุ่น ณ สมรภูมิเชิงสะพานท่านางสังข์ ประกอบกับภาพถ่ายเหตุการณ์สำคัญ ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2

ธรรมชาติวิทยาและมรดกดีเด่นของจังหวัดชุมพร
เป็นการกล่าวถึงลักษณะทางธรรมชาติวิทยาที่โดดเด่นของจังหวัดชุมพร คือ การเป็นแหล่งชีวภาพใต้ทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการละเล่นในเทศกาลต่างๆ หรือแบบแผนการดำรงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยใช้สื่อจัดแสดงประเภทภาพถ่าย ภาพลายเส้น หุ่นจำลองขนาดใหญ่และเล็ก เพื่อแสดงเหตุการณ์และเรื่องราวในส่วนนี้ อาทิเช่น หุ่นจำลองวิถีชีวิตพื้นบ้านของคนชุมพร ท่ามกลางบรรยากาศสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ฯลฯ

พลเรือเอก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวพระประวัติ พระกรณียกิจของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรฯ ที่มีต่อประเทศชาติบ้านเมือง ในด้านต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ของพระองค์ท่านที่มีต่อจังหวัดชุมพร ซึ่งพระองค์ท่านได้ตัดสินพระทัย ใช้เวลาในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ เสด็จมาประทับ ณ หาดทรายรี (ทางใต้ของปากน้ำจังหวัดชุมพร) ตราบจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 สื่อการจัดแสดง ใช้ภาพพระสาทิสลักษณ์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และแผ่นป้ายแสดงลำดับสายสกุล “อาภากร” ประกอบการบรรยายพระราชประวัติของพระองค์ท่าน

ชุมพรกับการเป็นเมืองบนเส้นทางผ่านของพายุไต้ฝุ่น

TH 02

จัดแสดงเรื่องราวว่าด้วยการเกิดพายุไต้ฝุ่นในจังหวัดชุมพร สื่อการจัดแสดง ใช้การสร้างฉากจำลองเหตุการณ์วาตภัยพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับจังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 มีการใช้เทคนิคแสง-สี-เสียง ประกอบวีดีทัศน์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถรับรู้เสมือนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น

นิทรรศการพิเศษ

TH 03