ตะเกียงดินเผา

Qr 12icon360 icon zoom

ชื่อโบราณวัตถุ :
ตะเกียงดินเผา
แบบศิลปะ :
สมัยทวารวดี
ชนิด : 
ดินเผา
ขนาด :
ขนาด ยาว 10.5 เซนติเมตร
อายุสมัย :
ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16
ลักษณะ :
ตะเกียงดินเผาพบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณไตรตรึงษ์เมื่อ พ.ศ.2527  เนื้อภาชนะค่อนข้างหยาบ ขึ้นรูปด้วยมือ รูปทรงตะเกียงนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนลำตัวซึ่งมีลักษณะกลมคล้ายถ้วย ส่วนนี้เป็นส่วนที่ถูกซ่อมต่อเติมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากของเดิมแตกหายไป และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนพวยของตะเกียง ส่วนปลายของพวยทำเป็นรูปทรงคล้ายถ้วยขนาดเล็ก ประโยชน์ใช้สอยของตะเกียงไว้สำหรับใส่น้ำมันตามไฟเพื่อให้แสงสว่าง ตะเกียงดินเผาลักษณะนี้ได้พบอยู่ทั่วไปตามชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองพระประโทน จังหวัดนครปฐม  เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี  แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค จังหวัดลพบุรี  เมืองโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี  เมืองบน (โคกไม้เดน) อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น  โดยสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากรูปแบบตะเกียงโรมันสำริดที่พบจากแหล่งโบราณคดีพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้บริเวณทางภาคใต้ของประเทศอินเดียในแคว้นอานธระ ยังพบตะเกียงดินเผาในลักษณะเช่นเดียวกันนี้  ตะเกียงดินเผาที่ค้นพบจากแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อาจเป็นของที่พ่อค้าอินเดียเคยนำเข้ามาใช้ เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่เคยเป็นเมืองท่าสมัยทวารวดีกับชาวอินเดียซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาจากดินแดนโพ้นทะเล  อย่างไรก็ตาม ตะเกียงดินเผาที่ค้นพบจากเมืองโบราณไตรตรึงษ์คงมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการติดต่อกับชาวอินเดียโดยตรง แต่น่าจะเป็นการติดต่อผ่านชุมชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกทอดหนึ่ง  โดยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำปิงตอนล่างในการเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมสมัยโบราณ และเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย
ประวัติ :
พบที่เมืองโบราณไตรตรึงษ์ บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
สถานที่จัดแสดง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
คิวอาร์โค้ด สำหรับเข้าถึงระบบฐานข้อมูล  :
QR12
(ท่านสามารถโหลดและนำไปใช้เพื่อการทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่อได้)

b m01icon360 2

b m01
icon zoom 2