พระพุทธรูปปางมารวิชัย (1)

Qr 9icon360 icon zoom

ชื่อโบราณวัตถุ :
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
แบบศิลปะ :
ศิลปะสุโขทัย
ชนิด : 
สำริด
ขนาด :
สูงพร้อมฐาน 46.5 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 28.5 เซนติเมตร
อายุสมัย :
พุทธศตวรรษที่ 20 - 21
ลักษณะ :
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างยาว พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม แสดงถึงฝีมือสกุลช่างกำแพงเพชรโดยเฉพาะ พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็กเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม ขมวดพระเกศาค่อนข้างเล็ก พระอุษณีษะเป็นต่อมนูนใหญ่ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง  พระกรรณยาว ระหว่างพระกรรณกับพระอังสามีตัวเชื่อมหรือยึดไว้ให้ติดกันซึ่งคงเกิดขึ้นจากเทคนิควิธีการในการหล่อโลหะ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์คอดเล็ก ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรที่พาดบนพระอังสาซ้ายยาวลงมาจรดพระนาภี ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนอาสนะฐานหน้ากระดานสี่ขา พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการรังสรรค์ขึ้นโดยใช้วิธีการหล่อโลหะแบบสูญขี้ผึ้ง (Lost wax method) โลหะที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลัก คือ ทองแดงและดีบุก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สำริด  นอกจากนี้อาจมีการผสมโลหะชนิดอื่นด้วย เช่น ตะกั่ว ทั้งนี้เพื่อลดความหนืดของน้ำโลหะและให้น้ำโลหะไหลเข้าไปในแบบพิมพ์อย่างทั่วถึง  การหล่อโลหะดังกล่าวสามารถสรุปวิธีการทำได้ดังนี้ ขั้นตอนแรกจะต้องทำหุ่นแกนดินให้เป็นเค้าโครงของประติมากรรม ตอกหมุดโลหะที่เรียกว่า ทอย ฝังลงในหุ่นแกนดินโดยรอบเพื่อยึดให้มีความมั่นคง  แล้วนำขี้ผึ้งมาพอกทับ ตกแต่งรายละเอียดต่างๆตามต้องการ โดยต้องปั้นขี้ผึ้งให้มีความหนาของเนื้อโลหะ  จากนั้นจึงนำดินผสมมูลวัวมาทาบนผิวขี้ผึ้งแล้วจึงนำดินมาพอกทับอีกครั้ง  ติดสายกระบวน สายชนวน และรูล้น สำหรับเป็นทางไหลของขี้ผึ้งและโลหะหลอมเหลว  จึงนำชิ้นงานนี้ไปเผาไฟให้ความร้อน จะทำให้ขี้ผึ้งหลอมละลาย เมื่อขับหรือไล่ขี้ผึ้งออกหมดแล้วจะทำให้เกิดช่องว่าง ให้นำโลหะที่หลอมละลายแล้วเทลงกลับลงไปในแบบพิมพ์เพื่อแทนที่ขี้ผึ้ง จากนั้นจึงทิ้งแบบพิมพ์ไว้ให้เย็นแล้วทุบดินชั้นนอกออก จะได้ชิ้นงานรูปประติมากรรมที่ทำไว้ตามรูปหุ่นขี้ผึ้ง
ประวัติ :
พบที่วัดพระธาตุ กลางเมืองกำแพงเพชร
สถานที่จัดแสดง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
คิวอาร์โค้ด สำหรับเข้าถึงระบบฐานข้อมูล  :
QR09
(ท่านสามารถโหลดและนำไปใช้เพื่อการทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่อได้)

b m01icon360 2

b m06
icon zoom 2