ประวัติที่มาและความสำคัญ

about TH 01

การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช 2512 มีการปรับปรุงพื้นที่ประมาณ 23 ไร่ มีการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถาน เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้นโครงสร้างเหล็ก ก่ออิฐถือปูน ประดับยอดจั่วด้วยกาแลแบบศิลปะพื้นถิ่นภาคเหนือ รวมพื้นที่กว่า 1,200 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรกว่า 800 ตารางเมตร
วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ คือ การตั้งแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่รวบรวมได้จากบริเวณภาคเหนือตอนบน อันประกอบด้วยพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา น่าน ลำพูน และลำปาง และสาเหตุที่พิจารณา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเนื่องจากมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยเป็นที่ตั้งของราชธานีหรือเมืองหลวง ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาหรือไทยฝ่ายเหนือมาก่อน อีกทั้งยังคงสถานะเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือสืบต่อมาจนทุกวันนี้
เมื่ออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ แล้วเสร็จประมาณปีพุทธศักราช 2514 จึงดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคารจนสามารถเปิดให้สาธารณชนเข้าชมและใช้บริการต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑสถานได้นับตั้งแต่พุทธศักราช 2516 เป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2516 เรื่อง กำหนดสถานที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยกำหนดให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในคราวเดียวกันกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 90 ตอนที่ 29 ลงวันที่ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2516

about TH 02
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ในระยะแรก กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากสถาบันต่าง ๆ มอบให้ได้แก่ พุทธสถานจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วัดต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณใกล้เคียงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่กรมศิลปากรทำการสำรวจ กอบกู้ และขนย้ายมาจากวัดร้างต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ที่จะก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่บางส่วนของอำเภอสามเงา จังหวัดตาก อำเภอฮอด และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และจากประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของภาคเหนือ และตัวอย่างศิลปกรรมสมัยต่าง ๆ ที่พบในประเทศไทย ซึ่งเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายในกำกับดูแลของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นำมาร่วมจัดแสดงด้วย ต่อมาเมื่อมีการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดี การขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเพิ่มมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการอนุรักษ์ จัดเก็บ และจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เพื่อให้เท่าทันความก้าวหน้าทางวิชาการและการให้บริการทางการศึกษา
ปรับปรุง

นับแต่พุทธศักราช 2539 ซึ่งตรงกับการสถาปนานครเชียงใหม่ครบ 700 ปี ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศักราช 2542 กรมศิลปากรได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการซ่อมแซมและต่อเติมขยายตัวอาคารพิพิธภัณฑสถานหรืออาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเดิมซึ่งมีพื้นที่เพียงกว่า 1,200 ตารางเมตร ให้สมบูรณ์เต็มรูปแบบ โดยต่อเติมขยายพื้นที่อาคารดังนี้

1.อาคารนิทรรศการด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือสองชั้นมีพื้นที่มากกว่า 600 ตารางเมตร
2.ลานอเนกประสงค์ด้านหน้าห้องประชุม พื้นที่ 300 ตารางเมตร
3.ปรับปรุงนิทรรศการถาวร ให้มีเนื้อหาวิชาการครอบคลุมหลายสาขาประกอบด้วย ภูมิศาสตร์ และธรณีวิทยา โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา และศิลปกรรมของชาวล้านนา ด้วยเทคนิคและสื่อการจัดแสดงหลากหลายยิ่งขึ้น

ปรับปรุง2

ต่อมาในช่วงพุทธศักราช 2556 – 2559 มีการดำเนินการปรับปรุงนิทรรศการถาวรภายในอาคารพื้นที่ประมาณ 2,700 ตารางเมตรใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องเท่าทันกับข้อมูลหลักฐานวิชาการปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการให้บริการข้อมูลทางการศึกษามรดกศิลปวัฒนธรรมให้รวดเร็วและทันสมัย ตลอดจนเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เข้าชม เช่น ทางลาด ลิฟท์ และมุมพักผ่อน

นอกจากนี้ มีการก่อสร้างอาคารคลังพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งทำเทียมที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้น พื้นที่ประมาณ 450 ตารางเมตร การก่อสร้างอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์และส่วนบริการธุรกิจศิลป์พื้นที่กว่า 700 ตารางเมตร สำหรับอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์หลังเดิม ปรับใช้เป็นศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกในภาคเหนือตอนบน และเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 1 ใน 7 แห่งเท่านั้นที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถาน และทอดพระเนตรนิทรรศการถาวรภายในอาคาร ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ยังคงมีภารกิจหลักในการดำเนินงานเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช 2504 แก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2535 ภายในกำกับดูแลของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากรกระทรวงวัฒนธรรม จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา การอนุรักษ์ และการให้บริการข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรมในฐานะแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนที่เรียกกันมาแต่โบราณว่า “ล้านนา”