ประวัติความเป็นมา

เขียนโดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป on . Posted in Uncategorised

text nationalgallery 01

เนื่องจากกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร (เมื่อแรกก่อตั้งนั้น มหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร) ได้จัดการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 โดยอาศัยกระทรวงคมนาคมเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงละครแห่งชาติ) เป็นสถานที่จัดแสดงงาน แต่ไม่มีสถานที่เก็บรักษารวบรวมผลงานที่ชนะการประกวดหรือได้รับรางวัล ต่อมาได้มีเอกชนตื่นตัวดำเนินการเปิดหอศิลปแสดงภาพขึ้นเองหลายแห่ง เช่น สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียนที่สะพานหัวช้าง เริ่มเปิดประกวดและแสดงภาพเขียนในปี พ.ศ. 2503 ศูนย์ศิลปะกรุงเทพที่มักกะสันและวังสวนผักกาด เปิดแสดงภาพใน พ.ศ. 2504 และต่อมา มีหอศิลปบ้านเมฆพยับและหอศิลป พีระศรี ที่ซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาธรใต้ ซึ่งหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ทรงอุปการะและออกทุนทรัพย์สร้างขึ้น รวมทั้งสถาบันเกอเธ่ของเยอรมันที่ถนนพระอาทิตย์ ก็เปิดแสดงภาพเขียนมาก่อนนานแล้ว เป็นต้น

กรมศิลปากรโดยกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ มีความประสงค์จะตั้งหอศิลปขึ้นบ้าง เพราะยังไม่เคยมีเลย คงเพียงริเริ่มจัดแสดงไว้ 2 ห้องในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงได้พยายามหาสถานที่จัดตั้งหอศิลปแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างสูงยิ่งจากนายสวัสดิ์ อุทัยศรี อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่เห็นความสำคัญของหอศิลปแห่งชาติ ยกโรงกษาปณ์เก่าที่เลิกร้างไปนานแล้วให้กรมศิลปากร โดยกรมธนารักษ์ได้กระทำพิธีมอบอาคารโรงกษาปณ์เก่าและที่ดินให้เฉพาะอาคารส่วนด้านหน้าให้แก่กรมศิลปากร เพื่อจัดตั้งหอศิลปแห่งชาติขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 เนื่องในโอกาสที่กรมศิลปากรจัดฉลอง 100 ปี "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย" อันเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกิจการพิพิธภัณฑ์ไทย

เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้ว กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจทำบัญชี เก็บรวบรวมภาพเขียนที่กระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่ได้จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพราะได้ใช้อาคารหมู่พระวิมานในวังหน้าจำนวน 2 ห้อง ได้แก่ ห้องด้านหลัง (ห้องอุตราภิมุขและห้องริมระเบียง) จัดเป็นห้องแสดงภาพเขียนอยู่ก่อนแล้ว (ประมาณ พ.ศ. 2513 - 2517) ดังนั้น เมื่อจัดตั้งหอศิลปแห่งชาติขึ้น จึงได้ย้ายภาพเขียนเดิมทั้งหมดนั้นมาเป็นสมบัติของหอศิลปแห่งชาติ จึงถือว่าภาพชุดดังกล่าวเป็นภาพชุดที่มีความสำคัญและเก่าแก่มาก
สมัยก่อนที่ยังไม่ได้สร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มีคลองหลอด (คลองคูเมืองเดิม) ไหลผ่านหน้าโรงกษาปณ์ การคมนาคมทางน้ำสะดวกอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นทำเลที่ดีและสวยงาม พ่อค้านักธุรกิจบางลำภูต้องการสถานที่แห่งนี้ทำเป็นศูนย์การค้า เมื่อแรกก่อตั้งได้ใช้ชื่อว่า "หอศิลปแห่งชาติ" และได้กระทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการเปิดอาคารและนิทรรศการพิเศษ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2520 และต่อมาในปี พ.ศ. 2521 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป" ครั้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2526 กรมธนารักษ์ได้ยกอาคาร รวมทั้งที่ดินส่วนด้านหลังทั้งหมดให้ ทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป มีพื้นที่ประมาณ 4-3-56 ไร่ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรมศิลปากรใหม่ พ.ศ. 2538 จึงได้กลับมาใช้ชื่อ "หอศิลปแห่งชาติ" อีกครั้ง

อาคารหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถูกปรับปรุงและต่อเติมสำหรับการจัดแสดง และใช้เป็นส่วนปฏิบัติการอื่นๆ ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น

1. อาคารนิทรรศการถาวร (2 ชั้น) มีพื้นที่ทั้งหมด 930.5 ตารางเมตร
2. อาคารนิทรรศการหมุนเวียน (8 ห้อง) มีพื้นที่ทั้งหมด 1,410 ตารางเมตร
3. ห้องอเนกประสงค์ มีพื้นที่ทั้งหมด 475 ตารางเมตร
4. อาคารเรือนกระจก (2 ชั้น) มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 500 ตารางเมตร
5. อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ (2 ชั้น) มีพื้นที่ทั้งหมด 815 ตารางเมตร

โรงกษาปณ์สิทธิการ

อาคารโรงกษาปณ์เก่าหรือโรงกษาปณ์สิทธิการ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล บริเวณริมคลองคูเมืองเดิมด้านทิศเหนือ ซึ่งเดิมเป็นวังที่ประทับของบรรดาเจ้านายหลายพระองค์ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงกษาปณ์สำหรับผลิตเงินเหรียญขึ้นใช้เองภายในประเทศ และพระราชทานค่ารื้อถอนสำหรับสร้างวังใหม่แก่เจ้านายทุกพระองค์ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารและทรงเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยพระองค์เอง

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโรงกษาปณ์สิทธิการเป็นศิลปะแบบตะวันตก สร้างตามแบบโรงงานเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจั่ว อาคารหลักด้านหน้าตรงกลางก่อเป็นมุข 2 ชั้น ชั้นล่างต่อเป็นปีกออกไปทั้งสองด้าน เป็นอาคารยาวชั้นเดียว หักมุมฉากและไปบรรจบกันตามแผนผังรูปสี่เหลี่ยม สามารถเดินติดต่อกันไปโดยตลอด เปิดเป็นลานโล่ง ตรงกลางอาคารทางปีกขวาเจาะเป็นช่องประตูโค้งสำหรับเป็นทางเข้าสู่ลานโล่งได้อีกทางหนึ่ง

การตกแต่งส่วนประกอบต่างๆ ทำให้อาคารแห่งนี้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นคือ หน้าต่างวงโค้ง ลูกกรงบานเกล็ดโดยรอบอาคาร โดยเฉพาะหน้าต่างชั้นบนนั้น กรอบบานหน้าต่างโดยรอบตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นซุ้มวงโค้งและเสาหลอกแบบโรมัน ที่ผนังอาคารด้านนอกมีการเซาะร่องตื้นตามแนวขวาง เลียนแบบการก่อสร้างด้วยหิน ตามสันหลังคาและเชิงชายโดยรอบตกแต่งด้วยลายฉลุลูกไม้งดงาม รวมถึงที่พื้นผนังจั่วด้านหน้าประดับปูนปั้นนูนต่ำเป็นตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในวงโค้งล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา

บันไดทางขึ้นด้านหน้าอาคารสู่ประตูโค้งใหญ่ตรงกลาง เหนือกรอบประตูประดับด้วยกระจกสี พื้นอาคารภายในชั้นล่างปูด้วยหินอ่อนมีลวดลาย ส่วนพื้นชั้นบนเป็นไม้สัก และที่วงโค้งเหนือกรอบประตูด้านในประดับลวดลายฉลุไม้อย่างงดงามเช่นกัน
อาคารโรงกษาปณ์เก่านี้จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่มีความโดดเด่นมากอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2521 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 98 วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2521