เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

01icon zoom

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

02icon zoom

ชื่อเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิดซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทองมีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำภาษาสันสกฤตคือ ภุชงฺคะ มีความหมายเดียวกันกับ นาคะ

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

08icon zoom

ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ 3 คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา) ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

09icon zoom

นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ ส่วนที่เติมสร้อยว่า รัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่าเรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

เรือเอกชัยเหินหาว และ เรือเอกชัยหลาวทอง

03icon zoom

เอกชัยเหินหาว และเอกชัยหลาวทอง เป็นชื่อเรือ 2 ลำคู่กัน ลักษณะใกล้เคียงกันคือหัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงงอนขึ้นไป ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำรูปเหรา (อ่านเห-รา) ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนาน ลักษณะคล้ายมังกรแต่มีหัวเป็นงูหรือนาค อย่างไรก็ตามเรือ 2 ลำนี้มีรูปลักษณ์ของหัวเรือที่ต่างกันอยู่บ้างเป็นที่สังเกตได้

เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์

04icon zoom

ชื่อเรือทั้งสองลำนี้ สะท้อนความรับรู้วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (พุทธศักราช 2325 - 2352) เป็นวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องตามมหากาพย์รามายณะของอินเดีย

เรือพาลีรั้งทวีป และ เรือสุครีพครองเมือง


05


ชื่อเรือ 2 ลำนี้คือ พาลีรั้งทวีปและสุครีพครองเมือง สะท้อนความรับรู้เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พุทธศักราช 2325 - 2351) เป็นวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องตามมหากาพย์รามายณะของอินเดีย

เรือครุฑเหินเห็จ และ เรือครุฑเตร็จไตรจักร

06 

ชื่อเรือ 2 ลำนี้สะท้อนถึงอิทธิพลคัมภีร์ปุราณะของอินเดียที่มีต่อคตินิยมและศิลปกรรม ไทย ตามคัมภีร์ปุราณะครุฑเป็นเจ้าแห่งนกทั้งหลาย หรือเทพปักษิน ซึ่งผูกพันกับพระวิษณุ เพราะพระวิษณุทรงท่องไปในสวรรค์โดยมีครุฑเป็นพาหนะ

เรืออสุรวายุภักษ์ และ เรืออสุรปักษี

07icon zoom

ชื่อเรือสองลำนี้มาจากคำภาษาสันสกฤต มีความหมายดังนี้ อสุรวายุภักษ์ แปลว่า “อสูรผู้มีลมเป็นอาหาร” อสุรปักษี แปลว่า “อสูรผู้เป็นนก” หัวเรือของเรือทั้งสองลำมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือมีร่างกายเป็นนก มีหัวหรือหน้าเป็นยักษ์

เรือเสือทะยานชล และ เรือเสือคำรณสินธ์ุ

10

เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธ์ุ เป็นเรือ 2 ลำที่ดัดแปลงมาจากเรือรบ (เรือที่ใช้ในการรบหรือการสงคราม) เป็นเรือนำกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค ในสมัยโบราณ เรียกเรือลักษณะนี้ว่า เรือพิฆาต

เรือทองขวานฟ้า และ เรือทองบ้าบิ่น

11

ทองขวานฟ้า แปลว่า ขวาน (ทำด้วย) ทอง ตกมาจากท้องฟ้า คนไทยโบราณมักเรียกขวานหินขัดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบอยู่ในแหล่งต่างๆ ว่า ขวานฟ้า เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำขึ้นเอง แต่ตกลงมาจากท้องฟ้า

โขนเรือ

11icon zoom

โขนเรือ: โขนเรือพระราชพิธีส่วนหนึ่ง  ได้รับความเสียหายจากระเบิดเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เห็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโขนเรือที่ได้นำมาเก็บรักษา และจัดแสดงให้ผู้สนใจได้เห็นถึงวิถีและความปราณีตของคนไทยที่มีต่อเรือ  ทั้งที่ใช้ประกอบในพระราชพิธี  และที่ใช้เพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  โดยจัดแสดงไว้ในโรงเก็บเรือพระราชพิธี  ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ (ของเดิม)

10icon zoom

โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ (ของเดิม): โขนเรือที่เห็นนี้เป็นโขนเดิมที่ยกเลิกใช้งานและนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย